วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์

ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์

โดย MGR Online   
21 มกราคม 2559 11:10 น.
        ไลค์และแชร์อย่างภาคภูมิ ภาพนักแสดงหนุ่มชาวไทยผู้ประหมัดกับครูมวยหย่งชุนในหนังแอ็กชั่นยอดฮิต “ยิปมัน 3” พร้อมไถ่ถามเซ็งแซ่ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน? “สุชาติ ขันวิไล” คือชื่อของเขาที่ตลอด 15 ปีบนวิถีสตั๊นท์แมน เปรียบได้ดั่งเงาของโทนี่ จา แต่ทว่าเวลานี้ เขากำลังฮอต ถึงขั้นที่ฮอลลีวูดดึงตัวไปร่วมงาน 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        จากเด็กน้อยที่หลงใหลในลีลาผาดโผนของหนังแอ็กชั่น ก่อนก้าวเข้าสู่ชมรมกระบี่กระบองของวิทยาลัยที่ทำให้มีโอกาสพบพานกับตำนานคิวบู๊และอาชีพสตั๊นท์แมน ต่อจากนั้นอีกกว่า 15 ปี ระหกระเหินเดินก้าวบนทางสายนี้มาโดยตลอด ถึงแม้ไม่โด่งดัง แต่ก็ไม่ย่อท้อ สู้ฟันฝ่ามานะจนถึงวันนี้ที่ไม่เพียงคนไทยจะได้รู้จักเขาอย่างกว้างขวาง หากแต่ยังดังไกลไปถึงเมืองนอกเมืองนา กับบทบาทล่าสุดในหนัง “ยิปมัน 3” (Ip Man 3) ฉากต่อสู้กันในลิฟท์ระหว่างปรมาจารย์ยิปมันกับสุชาตินั้น กลายเป็นอีกหนึ่งฉากสำคัญที่คอหนังแอ็กชั่นชื่นชอบกันมาก
       
       และจากจุดนี้ “สุชาติ ขันวิไล” ก็ได้รับการทาบทามให้ไปร่วมงานกับฮอลลีวูดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังขอเก็บไว้เป็นความลับ...แต่สิ่งที่ไม่เป็นความลับ และเราพอจะเปิดเผยได้ก็คือ ชื่อของเขา หลายคนคงงงว่าตกลงแล้ว “สุชาติ” หรือ “ศรุต”? เล่าสั้นๆ ง่ายๆ ชื่อเขาเปลี่ยนไปตามการทำนายทายทักของดวงชะตา เหมือนคนไทยทั่วไปที่เปลี่ยนชื่อด้วยความเชื่อ ว่าเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
       
       ชีวิตของ “ศรุต” จะไปถึงจุดไหน? ไม่มีใครรู้
       เท่าที่รู้ ตอนนี้เขาบอกว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
       และถ้าใครสักคนได้ยินชื่อ “ไซม่อน กุ๊ก” ก็อย่าได้แปลกใจ
       เพราะนั่นเป็นหนึ่งฉายานามของเขาคนนี้ 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        กำเนิดไอ้หนุ่มสตั๊นท์แมน
       ศิษย์น้องร่วมสำนัก “จา พนม”
       
       “มันเกิดจากแรงบันดาลใจตอนเด็กๆ ที่ได้ดูหนังกลางแปลง”
       ศรุต กล่าวเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางก่อร่างสร้างตัว เป็นสตั๊นท์แมน
       
       “บ้านนอกสมัยนั้น ช่วงที่ผมเรียน ป.3-4 ความบันเทิงอย่างภาพยนตร์จะเข้าถึงได้ ก็จะมีแต่งหนังกลางแปลง เป็นหนังเร่ล้อมผ้า ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท หนังที่ฉายที่จังหวัดกาฬสินธุ์แถวบ้านเกิดผม ก็จะมีแต่หนังจีนแอ็กชั่นซะส่วนใหญ่ หนังของ ชอว์ บราเดอร์ เฉินหลง บรู๊ซลี อะไรอย่างนี้ เราก็ชอบดู มันก็เกิดแรงบันดาลใจจากตรงนั้นส่วนหนึ่ง ทีนี้เมื่อได้มาดูหนังของพี่พันนา ฤทธิไกร เราก็โอ้...เลย หนังไทยมีแบบนี้ด้วย
       
       “หลังจากนั้นก็ขาดดูหนังของพี่พันนาไม่ได้เลย แม่ห้ามไม่ให้ไป ก็แอบไป จำได้ว่าครั้งหนึ่ง พ่อแม่หลอกพาผมไปบ้านย่าแล้วบอกว่าเดี๋ยวจะพาไปดูหนัง ให้ไปบ้านย่าก่อน แต่จริงๆ ไม่พาเราไป ทีนี้พอกลับมาถึงบ้าน เราก็ร้องไห้ใหญ่เลยว่าทำไมไม่พาเราไปดูหนัง ผมก็จะเป็นคนดื้อๆ หน่อย ก็ไม่สน เดินไปอีกหมู่บ้านหนึ่งเลยที่เขามีหนังฉาย ประมาณ 2 กิโลเมตรได้ คือทั้งไกลและเปลี่ยว น่ากลัวมาก พ่อก็พูดว่า ปล่อยมันไปเถอะ เพราะแกไม่คิดว่าเด็กขนาดเราจะกล้าไป เพราะออกไปสักพัก เดี๋ยวก็กลับมาเอง
       
       “ผมก็กลับมาอย่างที่พ่อพูดนั่นแหละ แต่กลับตอนหนังฉายจบ”
       สตั๊นท์แมนหนุ่มหัวเราะเบาๆ ให้กับเรื่องเล่าแต่คราวหลัง ที่ค่อยๆ หยั่งรากฝั่งลึกจนเป็นความรักความหลงใหลในลีลาผาดโผนโจนทะยาน
       
       “คือพอดูหนังกลับมาเสร็จ เช้าวันรุ่งขึ้นก็จะต้องไปเล่นตามในหนัง ตีลังกาบ้าง กระโดดบ้าง ใส่กองฟางหรือตามริมน้ำ เล่นคนเดียวนั่นแหละ (หัวเราะ) จนทำตามค่อนข้างได้ก็ชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกันบ้าง ก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา จนเราโตมาเรื่อยๆ ก็ทำให้เราชอบเล่นอะไรเสี่ยงๆ อย่างเวลาขี่มอเตอร์ไซค์ ก็จะชอบขี่แบบซิกแซ็ก หวาดเสียว สะวี้ดสะว้าด เราก็ทำได้แค่นั้น ก็ไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งเราจะมาเป็นสตั๊นท์แมนจริงๆ
       
       “ในระหว่างที่เรียน เราก็ชอบออกกำลังกาย ชอบเล่นกีฬาด้วย ฟุตบอล วอลเลย์บอลเอาหมด ยิ่งเซปักตระกร้อนี่ ถนัดเลย (หัวเราะ) ซึ่งความชอบนั้นก็ทำให้เรามีโอกาสทางการศึกษา เพราะมีโควตาจากวิทยาลัยพละศึกษา จังหวัดมหาสารคาม เขาเปิดรุ่นที่ 2 อาจารย์เสน่ห์ ผู้ฝึกสอนกีฬาก็พาไปเพราะอาจารย์เขาก็จบจากที่นั่น ก็พาไปสอบสมรรถภาพสอบอะไรพวกนี้ ผมก็ได้เข้าไปเรียน”
       
       “ก็ลืมเรื่องสตั๊นท์แมนไปเลยนะ...แต่ถามว่ายังชอบไหม ก็ยังชอบอยู่ เพียงแต่เรามุ่งมาทางนี้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งพ่อแม่และครูก็คิดว่าเราจบมา ก็ต้องเป็นครู เราก็คิดหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้ พอเข้าไปเรียนในฐานะนักกีฬาตระกร้อวิทยาลัยได้ประมาณ 2-3 เดือน มีพิธีไหว้ครู เขาก็จะมีการแสดงเยอะมาก และมีการแสดงชุดหนึ่ง เป็นการแสดงคิวบู๊”
       
       “แล้วคนที่เล่นวันนั้นเป็นใครรู้ไหม...”
       สตั๊นท์แมนหนุ่มย้อนถามพลางเว้นวรรค ให้ความตื่นเต้นในเวลานั้น เพราะบุคคลผู้นั้นในวันนี้ กล่าวได้ว่าเป็นบุรุษผู้ทำให้ทั่วโลกยอมรับฝีไม้ลายมือของการแสดงบู๊เมืองไทย 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        “พี่จา พนม ครับ (จา พนม หรือ ทัชชกร ยีรัมย์) เขาเป็นรุ่นพี่ที่มาเรียนอยู่ก่อนแล้ว 2 ปี ตอนนั้นเขาก็เริ่มเล่นหนังกับพี่พันนาแล้ว และพี่พันนาแกก็ส่งให้มาเรียนต่อที่นี่ ผมยังไม่รู้จักว่าแกเป็นใครในตอนนั้นนะครับ แต่พอผมได้เห็นเขาแสดงเท่านั้นแหละ มันทำให้เกิดความผมสงสัยเลยว่า โอ้โห! นี่ทีมพันนามาเองเลยหรือเปล่าเนี่ย
       
       “จบงานวันนั้น ผมก็ควานหาเลย ก็ไปรู้ว่าเป็นของชมรมกระบี่กระบอง ผมก็ออกจากตระกร้อเลย ไม่ซ้อมเลย หายซ้อมไปเฉยๆ แต่เราก็ยังเรียนอยู่ มีเรียนเราก็เรียน แต่ไปขอเข้าชมรมกระบี่กระบอง ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ชัชวาลย์ รัตนพร เป็นผู้ควบคุม ก็ไปเจอหมดเลย ทั้งพี่จา แล้วก็รุ่นพี่อีกหลายๆ คน เราก็เลยพอมีโอกาสได้เห็นเขาซ้อม เพราะว่าจริงๆ ในวิทยาลัยพละ เขาไม่ได้สอนให้เป็นสตั๊นท์แมน เราไปเข้าชมรม เราก็ไม่ได้เรียนวิชาสตั๊นท์แมน เขาสอนให้เป็นนักกีฬาเฉยๆ แต่ทีนี้ตอนที่เข้าไป บังเอิญเป็นช่วงทำเดโมของพี่จา เขาก็ไปซ้อมกันที่นั่น เด็กวิทยาลัยมหาสารคามจะเรียกว่าโรงยิม 3 ก็เห็นเขาเป็นเดือนๆ ซ้อมเตะต่อย ซับหน้า ล้มรับแอ็กชั่น ตีลังกา สวยมาก ไม่เหมือนกับที่เราตีกองฟางเลย (หัวเราะ) ต่างกันคนละเรื่องเลย
       
       “ช่วงนั้น เราก็ครูพักลักจำมา ดูอย่างเดียว ได้แต่ฟันยางรถ จนทีนี้ พี่จาแกก็เรียนถึงปี 3 พี่พันนาก็เรียกตัวขึ้นไปกรุงเทพฯ เพื่อทำหนังเสนอ แล้วหลังจากนั้นพี่จาก็ได้ทำหนังเดโมกับพี่พันนาเรื่องหนึ่ง มาทำที่นี่ ตอนนั้นรู้สึกว่าจะเป็นเรื่อง 'คนสารพัดพิษ' ยังไม่ใช่เรื่ององค์บาก พี่พันนาก็ให้พวกเราน้องๆ ไปช่วย ด้วยทุนด้วยอะไรที่ตอนนั้นยังไม่มีกันมาก แล้วก็ด้วยสตั๊นท์แมนกับกระบี่กระบองมันเข้ากันได้ไง ตัวพี่พันนาเองก็เรียนจบจากที่นั่น คือถึงแม้เราจะไม่ได้ศึกษาโดยตรง แต่ก็อย่างที่บอกว่า วิชากระบี่กระบอง เราเรียนเป็นกีฬา เสริมสร้างทักษะความคล่องตัวของร่างกาย การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของการเป็นสตั๊นท์แมนอยู่แล้ว
       
       “อีกอย่าง เขาจะมีสอนยิมนาสติกด้วย เราก็สามารถเอามามิกซ์ใช้ได้เลยกับการเป็นสตั๊นท์แมนได้เลย เราก็พลอยได้รับวิชาความรู้ พี่จาแกก็ถ่ายทอดการเซฟตัวเอง เพราะเราได้เป็นสแตนอินกับเขา จบตรงนั้นพี่จาถึงได้เริ่มทำเรื่ององค์บาก ผมก็ขาดเรียนไปบ้างตอนนั้น ไปช่วยเล่นในองค์บาก แต่ไม่ได้เยอะ มีฉากต้นไม้ ฉากในถ้ำ ประมาณนี้ ไม่เยอะมาก ไม่ค่อยเห็นหรอก”
       
       “หลังจากนั้น พอเรียนจบปุ๊บ หนังเรื่ององค์บาก (ภาค 1) ก็ดัง บูมเลย พี่พันนา พี่จา ก็เลยเรียกพวกผมขึ้นไปร่วมงานทันที แกก็ไปตั้งทีมมวยไทยสตั๊นท์ เป็นทีมสตั๊นท์แมนทีมแรกของเมืองไทย ที่บริษัทบาแรมยู ในเครือสหมงคลฟิล์ม 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        “ถ้าถามว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ส่วนตัวเราก็แอบหวังอยากเป็นนักแสดง แต่ไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้นะ เงินเดือน 2 หมื่น ไปออกกอง รับอีกต่างหากวันละ 1,500 บาท แล้วก็มีค่าตัวในฉากตกจากที่สูง สมมุติเราตกตึก 5 ชั้น ตีไปเลยชั้นละ 10,000 บาท วันนั้นเราได้ 51,500 บาท อันนี้บ้านเรานะ ถ้าเป็นเมืองนอกอย่างฮอลลีวูด ตกตึก 4- 5 ชั้น ได้เงินกว่าครึ่งล้านบาท ขับรถฉากคว่ำครั้งเดียว เห็นเขาบอกว่าอยู่ได้ทั้งชีวิต ได้เงินเป็นหลักล้าน
       
       “แต่เราคิดแค่ว่าได้เล่นตามที่เราชอบ ส่วนการได้ออกทีวี ออกจอภาพยนตร์ มีคนเห็นนิดๆ หน่อยๆ ก็ดีใจแล้ว เพราะก่อนหน้านั้น ก็ไม่ค่อยมีคนคิดว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็มีคำดูถูก พูดว่าคนอย่างเรามันไม่มีทางไปถึงไหน เราก็ฝังใจ แต่ก็ไม่เป็นไร เราจะทำให้ดู เราก็เอาคำเหล่านั้นมาเป็นแรงผลัก พอทำได้ก็ถึงจุดนั้นได้ตอนนั้นก็ดีใจ
       
       “แม้จะเจ็บเคยผ่าหัวเขาสองครั้ง เอ็นหัวเข่าเอ็นไขว้ขาด ครั้งแรกเกิดจากการซ้อม คือเล่นๆ ตีลังกา เล่นท่าราวดอฟแล้วก็เกลียวหลังลง แต่ขามันบิดผิดท่าไป ก็ต้องไปผ่าข้างขวา รอบสองเป็นเรื่ององค์บาก ภาค 2 ตอนที่กระโดดลงมาจากโขดหินที่เป็นเสือแล้วมันก็ลื่น ลื่นแล้วเอ็นหัวเข่าขาด อันนั้นคือเจ็บหนักสุดๆ แต่นอกจากนั้นก็จะมีแค่ถลอกปอกเปิก ฟกช้ำแค่นั้นเป็นอาจินต์ เป็นธรรมดาของสตั๊นท์แมน” 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        ฟ้าสั่งให้มาเจ็บ
       ไม่เจ็บ ไม่ดัง ไม่ปัง ไม่เลิก!
       
       ฝ่าฟันอุปสรรคจนก้าวขึ้นมาเป็นทีมสตั๊นท์แถวหน้าของเมืองไทย ทว่าสีสันของชีวิต ไม่เพียงแต่จะมีสีเขียวช้ำทางร่างกาย ในระหว่างที่ชีวิตกำลังขยับขยาย เรื่องร้ายๆ ที่บ่อนเซาะจากภายใน ก็กลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้จนแล้วจนรอดก็ไม่ดังเปรี้ยงปร้าง เหมือนรุ่นพี่ 'โทนี่ จา' ที่กลายเป็นขวัญใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
       
       “คือเรายังคิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผมเป็นคนไม่คิดว่า ทำไมพี่เขาไปแล้ว ผมยังอยู่ตรงนี้ ไม่คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าผมมาอยู่กับพี่ ทีมเขาสุดยอดแล้ว ช่วงชีวิตตอนนั้นที่ได้มาอยู่ทีม ก็ได้ร่วมเล่นหลายเรื่อง มีต้มยำกุ้ง, องค์บาก2, รับน้องสยองขวัญ, บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม1-2, Sun of the win, มือปืน, Yamada หนังต่างประเทศก็ได้เล่น จำได้ว่าเป็นหนังของประเทศมาเลเซียสองเรื่อง เราก็ได้ไปรับบทรับเชิญ แต่ก็เด่น ก็อยู่ด้วยกันเรื่อยมาเป็นปีๆ กระแสหนังแอ็กชั่นบ้านเราก็ซาลง ตลาดหนังบ้านเราตอนนั้นจะเป็นหนังตลกคอเมดี้ ทีมสตั๊นท์แมนก็เริ่มกระจาย พอเป็นอย่างนั้นก็เริ่มมีปัญหา และสุดท้ายผมก็แยกตัวออกมา”
       
       “วงการนี้ก็มีหลายๆ อย่างให้เจ็บปวดเหมือนกัน”
       สตั๊นท์แมนหนุ่มเผยความรู้สึกในช่วงนั้น ที่เมื่อมีปัญหาปากท้องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำคัญ การที่ต่างคนต่างจิตต่างใจ ก็ยากที่จะปรับจูนหาจุดกึ่งกลางที่ลงตัวพอดี
       
       “ทุกคนก็ต้องตัวใครตัวมัน ก็ออกมาหาช่องทางทำเอง หารับงานด้วยตัวเอง ตอนแรกก็คิดว่าไม่ยาก เรามีประสบการณ์ เคยอยู่ในทีมที่เจ๋ง แต่ที่ไหนได้ กลับกัน ออกมาเหมือนกบในกะลา เพราะเราอยู่ข้างใน เรามีแต่คนเสิร์ฟ ออกมาข้างนอก ทำอะไรก็ไม่เป็น แม้กระทั่งการติดต่อประสานงาน คอนเน็กชั่นอะไรก็ไม่มี ตอนเราอยู่บริษัท เขาจัดการให้หมด พอออกมา เราต้องหาเอง ชีวิตแย่มากช่วงนั้น แย่ถึงขนาดต้องไปรับงานโชว์ตัว งานแต่งงาน พอๆ กับช่วงตอนอยู่ชมรมกระบี่กระบองที่เราจะมีงานโชว์การแสดงเพื่อหารายได้มาเป็นทุนรอนตอนมาแข่งกีฬาวิทยาลัยพละศึกษา
       
       “ที่เคยส่งเงินให้ทางบ้านเดือนละ 5,000 บาท ก็ไม่มี แถมยังต้องไปขอให้พ่อแม่จำนองที่นาให้อีก เพื่อเป็นค่ายังชีพและส่งค่างวดรถเอาไว้ใช้ทำงาน เพราะเงินเก็บเราก็ไม่มี คือพอเงินมันเยอะ มันก็ใช้เยอะ สตั๊นท์แมนคนอื่นผมไม่รู้นะ แต่ผมพอได้เงินมาง่ายๆ มันก็ใช้เยอะ ส่วนมากจะไปหมดเรื่องเที่ยว เรื่องกิน ก็มีอะไรเข้ามาเยอะ เรื่องผู้หญิงอีก ณ ตอนนั้น แล้วเราคิดว่าเดี๋ยวก็มีงานมีเงินมาอีก ตกตรงนี้เดี๋ยวก็ได้แล้วหลักครึ่งหมื่น เราก็เก่งขึ้นทุกวันๆ เจ็บเล็กน้อย แต่เราไม่ได้คิดไงว่าหนังมันไม่ถาวร”
       
       จากหนึ่งเดือน ปฏิทินคิวงานกากบาทตัวแดงยาวเป็นอาทิตย์ต่ออาทิตย์ อย่างน้อยๆ หนึ่งถึงสองเรื่อง กลายเป็นขาวสะอาดชนิดเดือนชนปี กระนั้นก็ขอวัดอีกสักครั้ง
       
       “ตอนนั้น พ่อแม่ก็รบเร้าให้เรากลับบ้านเพราะเป็นห่วง ก็จะให้ไปเป็นครูตามสายที่เราเรียนมา บอกว่าเขาจะมีให้บรรจุเลยนะ ไม่ต้องสอบอะไรเลย เขารู้ว่าเรามีความสามารถ แต่เราก็ไม่เอา เราจะเดินหน้าอย่างเดียว คือตอนนั้นไม่คิดว่าจะทำอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากสตั๊นท์แมน แม้ว่าจะลำบากอย่างไร เจอปัญหาอย่างไร ก็สู้เรื่อยมา
       
       “ผมเป็นคนดื้อรั้นนิดหน่อย ไม่ค่อยยอมคนเท่าไหร่ แต่ว่าไม่ใช่ว่าไม่ยอมแล้วไปทำร้ายอะไรเขา ก็จะเข้าไปคุยตรงๆ กับเขา แค่นั้น อย่างที่ผมมีปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ทำไมเงินมันไม่ออกวันนี้ ทำไมได้แค่นี้ เราก็เข้าไปพูดกับเขา ซึ่งเขาก็ไม่ชอบเราแล้วล่ะพอทำอย่างนั้น แต่จริงๆ พอไปทำงานกับฝรั่ง คุณจะเอาเท่าไหร่ อย่างนี้เลย 10 วันจ่าย 5 วันจ่าย แต่บ้านเราเป็นปี เงินแสนหนึ่ง เล่นหนังจบเป็นปีถึงจะได้ หรือไม่ก็เบิกได้ทีละ 10,000 บาทบ้าง 5,000 บาทบ้าง มันก็ไม่พอ แล้วก็เลยต้องถามว่าทำไมเป็นอย่างนี้ คำว่าทำไม ก็เลยทำให้เราอยู่ลำบาก ไม่มีใครดัน อยู่ด้วยตัวเองในช่วงแรก 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        “ตอนนั้นก็ท้อเหมือนกัน คือทุกคนมันก็มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ปัญหาตรงนั้นเราจะเอามาเป็นบรรทัดฐานในการก้าวเดินชีวิตต่อไปอย่างไร อย่างที่เขาพูดกันว่า“มารไม่มีบารมีไม่เกิด”
       
       “ช่วงนั้นก็กลับบ้าน ไปพัก แล้วมีแฟน ก็เริ่มสร้างครอบครัว แฟนก็เหมือนให้กำลังใจ ช่วยดึงให้เราลุกขึ้นยืนได้ ระหว่างนั้นบังเอิญมีคนเขาอยากจะนำเสนอเรา ก็เลยได้เล่นหนังเรื่องแรก ในตอนนั้นที่เล่นก็คือเรื่อง “ชิปหาย” (The Microchip) เป็นหนังที่ก้ำกึ่งระหว่างตลกกับแอ็กชั่น เราก็เลยไม่ได้รับการโปรโมทเท่าไหร่ ก็จะเน้นเป็นตลกมากกว่า คือบางทีวงการบ้านเราก็พูดอยาก เก่งขนาดไหน ถ้าไม่มีคนดัน มันก็ดังลำบาก จังหวะตรงนั้น เรายังไม่มีคนดัน ถึงมีคนดันก็ไปเจออุปสรรค
       
       “พอได้เงินจากการเล่นหนังเรื่องนั้น ก็นำไปไถ่ที่นาคืน ส่วนรถให้โดนยึดไป เพราะที่นาสำคัญกว่า เป็นของพ่อแม่ หลังจากนั้นก็มีหนังต่างประเทศติดต่อเข้ามา มีคุยงานเตรียมงาน แต่ก็มีปัญหากัน เลยไม่ได้เปิดกล้อง”
       
       สตั๊นท์แมนหนุ่มเผยถึงชีวิตที่ระหกระเหินจากสูงสู่ดินแล้วลุ่มๆ ดอนๆ มาเรื่อยๆ มีงานบ้างประปราย แต่ก็ยังไม่ย่อท้อซุ่มฝึกซ้อมอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง...
       
       “คือช่วงนั้นก็ไปๆ กลับๆ ระหว่างบ้านกับกรุงเทพฯ เพราะงานมีบ้างไม่มีบ้าง แต่เราก็ไม่ทิ้งวิชานะ เราก็ยังซ้อมอยู่กับน้อง จำได้ว่าวันนั้นเรากลับไปอยู่บ้าน อยู่ได้เกือบอาทิตย์ก็ซ้อมกับน้องปกติ จู่ๆ ก็มีโทรศัพท์โทรเข้ามา กริ๊ง พี่ใจ๋เป็นพี่ในวงการโทรศัพท์มาบอกว่าหนังทางฝั่งฮ่องกงติดต่อมา บอกว่าอยากได้นักแสดงที่มีความสามารถทางมวยไทย
       
       “ผมก็พอมีชื่ออยู่หน่อย ระดับรองๆ จากพี่จา เพราะโดนพี่จาเตะต่อยบ่อย (ยิ้ม) คือเราเป็นสแตนอินให้ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง องค์บาก แล้วก็มี skin trade (คู่ซัดอันตราย) ก็เป็นสแตนอินให้แกมาเรื่อยๆ เรื่องมวยเรื่องอะไร เราก็พอได้จากเขา ท่าทางใกล้เคียง ก็ติดต่อประสานงานกัน เราก็เอาโปรไฟล์กับเวิร์คชอปที่เราทำเสนองานให้เขา แล้วก็ให้เขาไปเปิดดูในกูเกิ้ล เข้าไปที่ “ไซม่อน กุ๊ก” (Simon kook) พอเขาดูเสร็จก็บินมาหาเราเลย ก็คุยเรื่องรายละเอียดกันว่าจะได้เล่นเรื่องยิปมัน ภาค 3 ฉากนี้ๆ นะ เล่นกับดอนนี่ เยน (เจินจื่อตัน) เป็นดราม่าแอ็กชั่นหน่อยๆ เราก็โอ้...เลย 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        “ความรู้สึกตอนนั้นยังแอบคิดเล่นๆ เราจะได้เล่นหนังกับพระเอกระดับนั้น จะไหวหรือ”
       สตั๊นท์แมนหนุ่มย้อนความรู้สึก ณ วินาทีนั้น
       
       “แต่เราก็รับปาก ก็บินไปฟิตติ้งที่ฮ่องกง ฟิตติ้งก็เจอผู้กำกับคิวบู๊ ผู้กำกับหนัง โปรดิวเซอร์ก็พาไป เขาโอเค เราก็ได้ถ่ายที่เซียงไฮ้ 7-8 วัน แต่เราไปอยู่เกือบเดือนเพื่อซ้อม เพราะวัฒนธรรม รูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ถ้าพูดถึงความแตกต่าง ฉากแอ็กชั่นทางฝั่งฮ่องกงเขาจะทำง่ายกว่า อันนี้ความรู้สึกส่วนตัวนะครับ เพราะตอนที่เราอยู่ทีมพี่พันนา เวลาจะเล่นแอ็กชั่น ส่วนมากเราจะจริง โดนจริง เจ็บจริง ไม่มีสลิง แต่พอเราไปซ้อมที่ฮ่องกง ก็เลยรู้สึกว่าเล่นง่ายกว่า แล้วเวลาแอ็กชั่น เขาจะมีมุมกล้องช่วยเป็นส่วนมาก พอไปเริ่มแสดง เลยค่อนข้างง่าย
       
       “แต่ที่ไม่ง่ายก็คือตอนเข้าฉากจริง เพราะพระเอกดอนนี่ เยน เขาไม่ได้ซ้อมกับเรา เขาจะให้สแตนอินมาซ้อมกับเรา เนื่องจากคิวงานเขาเยอะ ทีนี้พอไปถ่ายจริงวันแรก เล่นเข้ากันไม่ได้ เครียดเหมือนกัน ผมก็เครียด คือถ้าเป็นคนจีนกับจีนต่อยกัน เขาจะรู้ใจกัน แต่เราเป็นมวยไทยไปฟัดกับมวยหย่งชุน เราช้าแต่หนัก ส่วนหย่งชุนเร็วแล้วก็หนักเหมือนกัน ก็พลาดคิว โดนไปหลายหมัด (หัวเราะ) ตามตัวนี่เป็นจ้ำๆ จุดๆ ห้อเลือดไปหมดเลย เพราะตอนนั้นเราไม่ใส่เซฟ เพราะคอสตูมเราเป็นเสื้อสีแดงบางๆ ใส่เซฟไม่ได้ กลับมาก็ต้องไปเอ็กซเรย์ ก็ปรากฏว่ากล้ามเนื้อฉีกเฉยๆ ไม่เป็นอะไรมาก” 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        โกอินเตอร์
       ฮอลลีวูดอ้าแขนรับ
       
       “ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะมันเหมือนเราก็พยายามหาตัวตนของเรา เราคิดมาหลายๆ อย่าง ผมพยายามทำเวิร์คช็อปตัวเองมาหลายปีเหมือนกัน คือบางที ผมอยู่ในเงาของพี่จา ถ้าจะให้เล่นเหมือนพี่จาอะไรก็เล่นได้หมด แต่ว่ามันก็เหมือนอยู่ในเงาเขา แต่ตอนนี้ผมก็เริ่มแล้ว ผมจะพยายามฉีกไปแนวๆ มาเชียล อาร์ต แต่เป็นมวยไทยเหมือนเดิม
       
       “ถ้าพี่จาจะเป็นมวยไทยแบบเรียลแอ็กชั่น คือไม่ใช้สลิง ไม่ใช้สแตนอิน ผมจะเป็นมาเชียล อาร์ต ค่อนข้างจะโอเวอร์แอ็กชั่น ถ้าหนังก็คงจะเป็นแนวซีจีเยอะๆ ใช้สลิง ออกแนวแฟนตาซี จะชอบประมาณนั้น แนวเรื่อง “ทาร์ซาน”, “ทรานส์ฟอร์เมอร์” หรือหนังแอดเวนเจอร์ผจญภัย คงต้องไปเป็นแนวนี้มากกว่า
       
       “เราจะใช้ศิลปะแบบมวยไทย แต่จะไม่ใช่มวยไทยที่มันชัดเจนมากเท่าไหร่ในฮอลลีวูด”
       สตั๊นท์แมนหนุ่มกล่าวถึงเส้นทางในอนาคตที่กำลังมีแผนร่วมงานกับทางฝั่งมหาอำนาจแห่งโลกภาพยนตร์อย่างฮอลลีวูด 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        “ตอนนี้ก็ยังบอกอะไรได้ไม่มาก ต้องรอทางโปรดิวเซอร์ผมที่อเมริกา แต่คร่าวๆ ก็เป็นหนังระดับใหญ่เหมือนกัน เราเป็นนักแสดงเต็มตัว เขาจะผลักดันให้เรามีชื่อเสียงที่โน่น ส่วนงานบ้านเราก็ยังรับเหมือนเดิม ตอนนี้ก็มีหนังหลายๆ เรื่องติดต่อเข้ามา ละครก็มีบทให้เล่น ก็อยู่ในขั้นตอนการจัดวางประงานงานเรื่องคิว
       
       “ผมถึงได้บอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี วันนี้ผมมีโอกาสมาถึงแล้ว แต่ก็ยังต้องพยายามต่อไปอีกหลายก้าว ก็อยากจะฝากถึง ถ้าน้องๆ หรือใครๆ ที่อยากเป็นสตั๊นท์แมน อันดับแรกคือเราต้องเคารพในงาน เคารพในหน้าที่ แล้วก็ศรัทธา ถ้าเคารพกับศรัทธาอย่างไรคุณก็ประสบความสำเร็จแน่นอน อย่างผม ผมเคารพ ผมศรัทธา ผมไม่เชื่อว่ามันจะไม่สำเร็จ แม้กระทั่งตอนเป็นเด็ก เราไม่คิดฝัน แต่ถ้าเราศรัทธา เราเคารพ มันก็พาเรามาได้
       
       “ข้อที่สองคือ ร่างกาย จิตใจ ต้องแข็งแรง ร่างกายก็คือกล้ามเนื้อ จิตใจคือเวลาเราเจออุปสรรคอะไรก็ช่าง อย่าไปท้อกับมัน ถึงบางครั้งมันจะช้ำบ้าง ผมถึงบอกว่าศรัทธากับมัน ถ้าคนที่เขาศรัทธากับสิ่งใด เขาจะไม่ยอมแพ้ สังเกตคนที่ไม่ศรัทธา ผมชอบ ผมอยากเป็นสตั๊นท์แมน แต่ไม่เกิน 3 วันไปแล้ว และมีเยอะด้วย เพราะอะไร ทนเจ็บไม่ไหว อะไรอย่างนี้เป็นต้น
       
       “คือจริงๆ ไม่ใช่แค่อาชีพสตั๊นท์แมน ทุกสิ่งอย่างที่เราฝันหรืออยากจะทำนั่นแหละครับ ศรัทธา เคารพ มาก่อน สองร่างกาย จิตใจ มันต้องแข็งแรง แล้วมันจะสำเร็จ ถ้ายังไม่สำเร็จ แสดงว่าโอกาสมันยังมาไม่ถึงเท่านั้นเอง อย่างตอนนี้ของผมก็คิดว่าจุดเริ่มมาถึงแล้ว เราก็ค่อยๆ ทำต่อไป” 
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        
ฟ้าสั่งมาเจ็บ!! ศิษย์น้องจา พนม “ศรุต ขันวิไล” สตั๊นท์แมนเลือดไทยโกอินเตอร์
        
        เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
       ภาพ : พลภัทร วรรณดี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น