วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ศิลปะแห่งความภูมิใจ ของ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ

ศิลปะแห่งความภูมิใจ ของ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ

April 23, 2019
by พิมพ์พัดชา กาคำ
ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ ผู้สร้างผลงานแฝงสไตล์ความเป็นไทยจนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก การันตีฝีมือด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดวาดภาพลายเส้นจาก "อเมริกัน อาร์ติสต์ แมกกาซีน" ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะมานานกว่า 70 ปี

HIGHLIGHTS

  • ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ ศิลปินไทยคนแรกที่ได้เป็น 1 ใน 7 ศิลปินร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ Painting from the Past ที่จัดโดย The Metropolitan Museum of Art ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ได้รับทุนจาก Leslie T.Posey Foundation ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ New York Academy of Art ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • คิวเรท นิทรรศการ ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ และพระผู้เป็นที่รักยิ่งแห่งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศล แต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยรายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
  • ศิลปินไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศที่ 1 จากการประกวดวาดภาพลายเส้น "อเมริกันอาร์ติสต์ แมกกาซีน"
  • ได้รับเกียรติจากกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส บริษัท TPN2018 ให้สร้างสรรค์สัญลักษณ์ที่ใช้ในการประกวด "มิสยูนิเวิร์ส 2018" ที่จัดขึ้นในประเทศไทย
ศิลปินผู้รังสรรค์งานศิลปะที่น่าจับตามองแห่งยุค ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ เปิดบ้านให้เข้าชมผลงานที่เขาภาคภูมิใจ พร้อมทั้งได้ชมของสะสมที่มีคุณค่าต่อจิตใจ มากมายหลายชิ้น โดยเฉพาะ ผลงานรีโปรดักชั่นของ ศิลปิน Rembrandt ชื่อภาพ Portrait of Herman Doomer ที่เขามีโอกาสได้เข้าไปวาดรีโปรดักชั่นในพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art ณ นคร New York
1.
                กล่าวถึง “คุณป๋วย-ชูศิษฐ์” หลังจากไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่ New York Academy of Art ศึกษาด้านเทคนิคการวาดภาพแบบโบราณของยุโรป เพื่อการถ่ายทอดผลงานออกมาได้ล้ำลึกยิ่งขึ้น
                “ผมเป็นคนที่ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ชอบอะไรที่มีประวัติศาสตร์ มีความเป็นมา ชอบความมีรากเหง้าของวัฒนธรรม เชื่อว่ามนุษย์สร้างอะไรขึ้นมาต้องมีคุณค่ามีความพิเศษอยู่แล้ว ก็เลยอยากจะไปทำความเข้าใจ เพราะเราทำงานทางด้านพอร์ทเทรต (Portrait) เราอาจจะเห็นผลงานของศิลปินระดับมาสเตอร์พีช เรารู้ว่าอันนี้คือมิติความงาม ที่มีความล้ำลึกอยู่ภายใน แต่เราอาจจะไม่เข้าใจมากพอ เพราะเป็นงานศิลปะแบบยุโรป ขณะที่เราเป็นคนเอเซีย เรียนยังไงก็ไม่ลึกซึ้งเท่าไปสัมผัสจริงๆ ทำให้ผมคิดว่าต้องก้าวไปอีกสเต็บหนึ่ง เพื่อไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก พอไปเรียนก็ได้เปิดโลกทรรศน์จริงๆว่า อ๋อ ที่เรายังไม่เข้าใจคืออะไร”
                ในวิชา Painting and Drawing at the Met เขาได้มีโอกาสเลือกวาดรูปต้นแบบของศิลปินระดับโลกในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผลงานชิ้นนี้จึงยากยิ่งกว่านั่งวาดคนจริงๆ เพราะต้องศึกษาวิเคราะห์เทคนิคเบื้องลึกจริงๆ ของศิลปินต้นแบบว่าเขามีขั้นตอนและเทคนิคอย่างไร รวมทั้งการผสมสี การใช้กระดานไม้อะไร  ใช้น้ำยาอะไรในการผสมสี อารมณ์ภาพเป็นแบบไหน ก่อนจะออกมาเป็นผลงานภาพชิ้นนี้จึงยากมาก
2.
                “ขั้นตอนในการวาดทุกจังหวะจะผิดขั้นตอนไม่ได้เด็ดขาด ถ้าผิดขั้นตอนเมื่อไหร่นั่นหมายถึงคุณพลาด ยากกว่าวาดอิสระที่มีแบบนั่งอยู่ตรงหน้า แล้วเราก็แค่วาดให้เหมือนโดยใช้เทคนิคส่วนตัว อันนี้นอกจากจะวาดให้เหมือนแล้วเทคนิคทุกขั้นตอนต้องเหมือนอีกด้วย  สีแต่ละเลเยอร์ต้องถูกต้องและสวยขึ้นมาทุกชั้น การวาดอยู่ในมิวเซียมที่ใหญ่มากๆ มีคนมามุงดูตลอดเวลา มีชาวต่างชาติมาถามเราตลอดเวลา ต้องมีความแม่นยำ ไม่ต่างจากการวาดสด พิสูจน์ฝีมือให้คนทั้งหมดที่มามุงดูเรา รูปนี้ผมใช้เวลาวาด 6 เดือน  เข้าไปมิวเซียมอาทิตย์ละวัน  ใช้เวลาครั้งละ 3-4 ชั่วโมง พอเขาจะจัด Exhibition ที่ The Met ผมก็ได้รับเกียรติเป็น 1 ใน 7 ศิลปินที่จัดแสดงงานมีคนมาดูเยอะมาก ตอนที่ผมทำงานมีคนของเขามาแอบถ่ายรูปตอนที่ผมทำงานแล้วเอาไปลงภาพปกของโบชัวร์ ที่ใช้แจกนักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ถือว่าได้รับเกียรติมากๆ และถือว่าเป็นเทิร์นนิ่งพอยท์ของชีวิตผม เพราะเราเข้าไปศึกษาจริงจังได้รับความรู้เพิ่มเติมในการทำผลงานชุดต่อๆไป”
2019-04-10-15-54-39
                   ภาพของ ศิลปิน Rembrandt  ในศตวรรษที่ 17 ที่คุณป๋วยต้องวาดลงบนแผ่นไม้ตามต้นแบบอย่างไม่มีผิดเพี้ยน จำเป็นต้องมีกรอบรูปไม้สไตล์ดัตช์ ใกล้เคียงกับภาพจริงที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ ถือว่าเป็นโจทย์ที่ต้องตามหาให้เจอ ในที่สุดก็หาได้จากร้านขายกรอบรูปแอนทีค ที่เขารับทำกรอบรีโปรดักชั่นให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้พอดี ถือว่าโชคดีมาก เป็นกรอบไม้เนื้อแข็งแกะสลักสไตล์ดัตช์ (หนักประมาณ 10 กิโลกรัม ขนกลับเมืองไทยมาด้วยหลังเรียนจบ)ใกล้เคียงกับในพิพิธภัณฑ์ เป็นภาพที่มีคนขอซื้อเยอะมาก ทว่าเขาไม่ยอมขาย เพราะเป็นผลงานที่รักและมีความหมายต่อเขาอย่างสุดซึ้ง
ขาตั้งไม้โอ๊ค ย้อน ศตวรรษที่ 19 (Oak Ralph Lauren Londole Artist’seasel) เป็นอีกหนึ่งของสะสมที่ใช้งานได้จริงที่เขารักและภูมิใจที่ได้ครอบครอง
                “ขาตั้งตัวนี้ซื้อที่เมืองไทยเป็นไม้โอ๊คแท้มีระบบแมคคานิค ตัวจับที่หมุนเป็นทองเหลือง ระบบการเคลื่อนตัวทำตามแบบขาตั้งยุคศตวรรษที่ 19 ชอบมากๆ เพราะตอบโจทย์การทำงาน สามารถวาดผลงานชิ้นใหญ่ๆได้ เลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้ 2 ระบบ เลื่อนต่ำสุดเกือบพื้นได้ แล้วเลื่อนโน้มตัวมาข้างหน้าได้ ถ้าแสงเปลี่ยนเวลาเราวาดสีน้ำมันแสงมันจะสะท้อนเข้าตา เราก็เลื่อนโน้มลงมาจะช่วยตัดแสงได้ ก่อนหน้านั้นผมมีขาตั้งอีกตัวซื้อตอนได้ทุนไปเรียนที่เยอรมนีเป็นของ MABEF เมดอินอิตาลี”
2019-04-10-15-58-53
                กระจกกรอบไม้แกะสลักโบราณ ซื้อตอนเรียนที่นิวยอร์ก วิชา Painting  อาจารย์ให้นักเรียนไปหาต้นแบบตามหัวข้อต่างๆ ด้วยความที่เป็นคนชอบของเก่า มีประวัติศาสตร์  เขาจึงไปเดินหาตามร้านขายของแอนทีค ได้กระจกไม้แกะสลักโบราณปิดทอง สิ่งของต้นแบบในการเรียนวาดรูปครั้งนั้นจึงมีทั้งกระจกไม้แกะสลักโบราณ
2019-04-10-16-03-24
และ  รูปวาดผู้หญิง Ivory Portrait Miniatures เป็นงานวาดภาพพอร์ทเทรตเขียนสี Qouache และ  watercolor ลงบนงาช้าง
                “ชอบผลงานสองชิ้นนี้มาก (รูปผู้หญิง)เพราะดูจากผลงานแล้วอาร์ติสต์มีฝีมือ  เนื่องจากเป็นงานที่มีขนาดเล็กมาก เขาสามารถเก็บรายละเอียดได้ดีและสวย   ศิลปะตะวันตกก็จะมีผลงานแบบนี้ในมิวเซียมเยอะ ส่วนใหญ่ใช้สีกวอซ และสีน้ำ มีเทคนิคการลงยาบ้าง มีความละเอียดลออ  เป็นงานเก่า ของสะสมของผมจะเป็นแหล่งความรู้ที่เราเอามาใช้ในงานสร้างสรรค์ของเราด้วย ศิลปินรุ่นก่อนๆเขาทำงานอย่างไร มีการพัฒนาอย่างไร  เราก็ต้องศึกษาเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในเส้นทางอาชีพที่เรารัก ทุกอย่างจะหล่อหลอมอยู่ในตัวของเรา”
7.
                อีกมุมหนึ่งของบ้านมี ตู้หนังสือไม้มะฮอกกานี ออกแบบสวยงามด้านในบรรจุไว้ซึ่งหนังสือและตำราเก่าที่เขารักและหวงแหนมีทั้งหนังสือด้านงานศิลปะ เครื่องประดับ หนังสือพระมหาชนก รวมไปถึงผลงานมาสเตอร์พีชของศิลปินดังหายาก ฯลฯ ถือว่าเป็นแหล่งความรู้ที่เขาสะสมไว้ตั้งแต่เด็ก บางเล่มมีลายเซ็นต์ของอาจารย์ที่เขาเคารพรัก
6.
นอกจากนั้นก็มี ผลงานรูปปั้นบรอนซ์โบราณ (Bronze)  อายุกว่าร้อยปียุค Art Nouveau และ Art Deco
2019-04-10-16-00-48
3.
                “ตุ๊กตาพอร์ชเลน(Porcelain)  ของอังกฤษคู่นี้ผมได้มาตั้งแต่สมัยที่เรียนจบใหม่ๆ แต่ซื้อที่เมืองไทยได้จากร้านขายของแอนทีค เจ้าของร้านเขามีร้านอยู่ที่อังกฤษด้วย  ผมเอาไว้ศึกษาดูวิธีเคลือบสี ดูรายละเอียด  ปกติผมจะทำงานปั้นด้วย ผลงานของศิลปินเหล่านี้ก็เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเรา  ของที่ผมซื้อบางทีไม่ได้ซื้อเพราะชื่อเสียงของศิลปิน  ซื้อเพราะชอบในผลงาน รายละเอียดของงานชิ้นนั้นจริงๆ บางทีซื้อแล้วเอากลับมาดูปรากฏว่าเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงก็มี ผมยังสะสมพวกอุปกรณ์การวาดรูป  พู่กัน  สี ฯลฯ เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะเขียนแบบสไตล์โบราณ  ถือว่าเป็นของสะสมที่ใช้งานได้จริง”
2019-04-10-15-57-43
                ศิลปินอนาคตไกลกล่าวทิ้งท้ายว่า ของทุกชิ้นที่เขาครอบครอง เสมือนเป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานศิลปะ ที่ช่วยหล่อหลอมความเป็นตัวตนของ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ เมื่อเห็นสิ่งของที่เขาเก็บสะสมไว้ ทำให้นึกถึงเรื่องราวในอดีตแล้วมีความสุข แสนภาคภูมิใจ