วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

หุ่นยนต์ดินสอ

"เฉลิมพล ปุณโณทก" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีทีเอเชีย จำกัด เจ้าของไอเดียปั้นหุ่นยนต์ไทยผงาดเวทีโลก เล่าว่า "คีย์เวิร์ด" ของการทำธุรกิจสำหรับเขาเริ่มในวัย 24 จากคำว่า “อุดมการณ์” “สปริงบอร์ด” และ “ต่อกรยักษ์ใหญ่”
อุดมการณ์ของเขา คืออยากทำอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เทียบชั้นยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่าง "โซนี่"
เมื่อเป้าหมายธุรกิจกระจ่างชัด จึงเริ่มหา "สปริงบอร์ด" ด้วยการท่องยุทธจักรอเมริกา ทำงานกับพี่เบิ้มการเงินของโลกอย่างจีอี แคปปิตอล ที่ชิคาโก “ล้วงตับ” ฝรั่งมังค่า เรียนรู้และอาสาทำงานปรับปรุงระบบคอลเซ็นเตอร์ เรียกว่า อาศัยบารมีองค์กรยักษ์ส่งเทียบเชิญเทรนเนอร์หัวทองมานำเสนอระบบ ดูดองค์ความรู้เต็มพิกัด ก่อนกลับมาขบคิดสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อชาติ
ลงเอยที่การขายซอฟต์แวร์ป้อนไอบีเอ็ม
"ตอนนั้น จังหวะชีวิตดีเมื่อไอบีเอ็มประกาศเลิกผลิตซอฟต์แวร์ทั่วโลก หันมาให้บริการเป็นหลัก สิ่งที่ค้าขายยกเลิก เลยนำซอฟต์แวร์มันสมองคนไทยเข้าไปแทนที่"
จุดเด่นซอฟต์แวร์ของบริษัท ประกาศจุดยืนขอ "อยู่ตรงกลาง" เป็นทางเลือก ต่างจากซอฟต์แวร์ “สายพันธุ์” อินเตอร์อื่นๆ ทั้งอวาย่า (Avaya) ออราเคิล ไมโครซอฟต์
“แบรนด์สู้ไม่ได้ แต่โนวฮาวสู้ได้ เลยกวาดมาส่วนแบ่งตลาด 70%ในเมืองไทย” เขาระบุ
วันนี้เขายังอาสาเป็นคนต้นแบบ นำพาธุรกิจสตาร์ทอัพขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยผนวกนวัตกรรมสร้างหุ่นยนต์ระดับพระกาฬของเด็กไทย ที่ไปคว้าแชมป์จากเวทีโลกมานักต่อนัก แต่สุดท้ายผลงานมักถูกวางไว้บน "หิ้ง" ไร้การต่อยอดเชิงพาณิชย์
“แชมป์หุ่นยนต์ของไทยเยอะมาก สุดท้ายคนเหล่านี้กลับไปเป็นอาจารย์ และวนเวียนอยู่แบบนี้ ล่าถ้วยรางวัล เลยชวนคนเก่ง ดึงแชมป์มาทำงานสร้างหุ่นยนต์ แล้วเราเป็นผู้วางกลยุทธ์ และบริหาร กลายเป็นการผลิตหุ่นยนต์ดินสอตัวละ 1 ล้านบาท ให้บริการเชิงพาณิชย์ในร้านอาหารชื่อดังอย่าง เอ็มเคสุกี้ สร้างรายได้หลักร้อยล้านบาท"
ปี 2558 เขายังมุ่งมั่นจะส่งผลงานสมองกลไปบุกตลาดญี่ปุ่น เจาะกลุ่มเป้าหมาย "ผู้สูงอายุ" ในญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีมากถึง 30 ล้านคน โดยตั้งธุรกิจคอลเซ็นเตอร์นำร่อง ก่อนเสริมทัพด้วยบริการหุ่นยนต์
"สิ่งที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของผมคือส่งออกหุ่นยนต์ไทยไปญี่ปุ่นให้ได้ ถ้าทำได้วันนั้นจะสะใจมาก เป็นความโรคจิตส่วนตัว (หัวเราะ) การเข้าไปบุกตลาดประเทศอื่นอาจง่ายกว่า แต่หากเข้าญี่ปุ่นได้ ก็จะไปประเทศอื่นได้ไม่ยาก" เขาฉายภาพ
ส่วนใครที่คิดว่าธุรกิจสตาร์ทอัพทำการตลาดไม่เก่ง ก็ต้องปิดจุดอ่อนให้ได้ โดยต้องหาตลาดเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ให้เจอ อย่าหยุดคิดค้นนวัตกรรม และพยายามโดยสารไปกับองค์กรขนาดใหญ่ สร้างความแกร่ง เสริมทัพธุรกิจ ก่อนยกชั้นให้เป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของกิจการร่วมกัน
(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น