วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

จัมโบ้ (JUMBO) นวัตกรรมรถลากจูงระบบไฟฟ้าของไทย

จัมโบ้”เมดอินไทยแลนด์
ทะลวงดินแดนนวัตกรรมยานยนต์
การเริ่มสตาร์ทว่ายากแล้ว การ "จุดให้ติด" เป็นเรื่องยากกว่า เมื่อต้องฟาดฟันกับยักษ์ระดับโลก แม้จะเหนื่อย แต่ "ประเสริฐ เจนศิริวานิช" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพของเอสเอ็มอีไทย ที่ขึ้นชั้นบิ๊กเนมได้ด้วยสองมือ
จุดสตาร์ทอัพของเขาอาจได้เปรียบกว่าอีกหลายราย นั่นเพราะมองตลาดทะลุตั้งแต่ต้น เริ่มจากการจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ ภาชนะพลาสติก นำเข้าสินค้านานาชนิดป้อนอุตสาหกรรม จนรู้ว่า ธุรกิจที่ทำเป็นส่วนหนึ่งในการจัดเก็บสินค้า การขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ เลยผนวกทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียว ป้อนลูกค้า “กลุ่มเดียวกัน” แบก One stop service
ประกาศตัวสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดเก็บ ยก ย้าย สินค้า นั่นเป็นคอนเซปต์แรกที่ดำเนินการ เพราะขณะนั้นไม่มีคนทำธุรกิจนี้ ก่อนตะลุย "ส่งออกรถเข็น" คุณภาพเยี่ยมสายพันธุ์ไทยไปยัง 3 ทวีป กว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยมี “เยอรมัน” ดินแดนแห่งยนตรกรรมของโลก เป็นตลาดหลัก
แบรนด์ “จัมโบ้” (JUMBO) คือยี่ห้อนวัตกรรมรถลากจูงระบบไฟฟ้าของไทยราคา 200,000-300,000 บาท ที่เขาพูดได้เต็มปากว่า Made in Thailand และส่งออกไปในหลายประเทศ แม้จำนวนไม่มาก แต่สตาร์ทอัพในอดีตเช่นเขาก็ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้บิ๊กเนม
“รถลากจูงระบบไฟฟ้ายี่ห้อจัมโบ้ ส่งออกหลายประเทศ สินค้าตัวนี้ผมภูมิใจสุดๆ เราไปซื้อตัวอย่างรถจากอิตาลี ตัวเล็กๆ แล้ววิศวกรรมที่บริษัทก็คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขยายสัดส่วน จากรถที่ลากวัตถุได้ 300 กก. ก็เพิ่มเป็น 1,200 กก.และ 2,500 กก. และยังได้รับรางวัล มาตรฐานต่างๆ” เขาเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
นอกจากนี้ 7-8 ปีก่อน ค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกอย่างโตโยต้า ก็สั่งซื้อไปรวมกว่า 300 คัน เพื่อใช้ในโรงงาน หากใครไปเยี่ยมชมจะเห็นยี่ห้อ “จัมโบ้” ละลานตา ค่ายนิสสันเองก็ใช้ระบบเช่าสินค้ามากกว่า 150 คัน
“เป็นเรื่องที่ทีมงานภาคภูมิใจ ผมยกความดีความชอบให้กับทีมวิศวกรคนไทย ถึงแม้เราตั้งนโยบายแล้ว แต่เริ่มลงมือช้าไปหน่อย แต่ท้ายที่สุดเราก็ผลิตสินค้าเนี้ยบๆ ได้”
ประเสริฐ ถอดสมการตลาดอย่างเฉียบคมมาก ยุคก่อนฟองสบู่แตก ปี 2539 เขาตกปากรับคำผู้ผลิตอีควิปเมนต์แถวหน้าของโลก เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย ท่ามกลางการแข่งขันเดือด มีทั้งเจ้าตลาด คู่แข่งนานัปการ กำไรบาง ทำตลาดหิน..แต่ก็ตอบรับ !!
การเป็นพันธมิตรธุรกิจครั้งนั้น เขามองว่ามันคือ “กลยุทธ์การตลาด”
“การที่บริษัทเอสเอ็มอีเล็กอย่างเรา ขายสินค้าแบรนด์อันดับ 1 ของโลก จนสร้างยอดขายสูงสุด 2-3 ปี ทำให้ลูกน้องเรามีโอกาสเรียนรู้การทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลก ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กร และความเชื่อถือจากลูกค้า”
(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น