อีกกรณีศึกษา คือการผันตัวจากนักวิชาการ สู่นักธุรกิจเต็มตัว "ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หล่ำ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวีทซีดส์ จำกัด ผู้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานสัญชาติไทย แบ่งเค้กยักษ์ใหญ่โลก
แม้จะนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมายยังคงเป็นงานวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ฐานที่คร่ำหวอดในห้องปฏิบัติการมานานถึง 32 ปี โดยปรับปรุงพันธุ์ “ข้าวโพดหวาน” ที่คนไทยบริโภคกันแพร่หลาย ร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ผลงานช่วงแรกที่ออกมาก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก แต่เกษตรกรกลับเอ่ยปากบาดใจว่า..
“อาจารย์เอาอะไรมาให้ปลูก หมายังเมินเลย ผมจำประโยคนี้ได้ เขาพูดแบบนั้นจริงๆ เพราะคนไม่อยากซื้อ ฝักมันเล็ก แต่เรามั่นใจว่าพันธุ์นี้อร่อย และตอบกลับไปว่า..สักวันหนึ่งหมามันจะต้องกิน”
เพราะวิจัยเมล็ดพันธุ์พืช ธุรกิจจะไปรอดได้ ต้อง “ขายออก” จึงเริ่มหาช่องทางการตลาด ด้วยการเจรจาการค้ากับโรงงานข้าวโพดกระป๋องในยุคนั้นทั้ง มาลี สามพราน และโรงงานริเวอร์แควร์ โดยรายหลังสนใจทำผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องส่งนอก เมื่อโรงงานปลูกเองไม่ได้ จึงใช้วิธีทำคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่งหรือการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตกับเกษตรกรล่วงหน้า
2 ปีผ่านไปเกษตรกรเข้าร่วมน้อย จนเข้าสู่ปีที่ 3 เกษตรกรเริ่มเข้าคิวรอทำคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่ง มากถึง 3,000 ไร่
ธุรกิจหมาเมิน ก็เริ่ม OK !
ผลของการตัดสินใจเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพ ทำให้เขารู้ว่าการทำธุรกิจสิ่งสำคัญคือ “ต้องมีความรู้” และ “รักษาคำพูด-คำมั่นสัญญา” ยิ่งการทำสัญญากับเกษตรกรทุกอย่างต้องเจรจาบนโต๊ะ และชัดเจนว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้
ขณะที่สินค้าเมล็ดพันธุ์พืชจะทำการตลาด โหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ตายก็ไม่ได้ผล สิ่งที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้า ต้องมาจาก "ความน่าเชื่อถือ" และจากการบุกเบิกตลาด
นอกจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานบุกเบิกตลาดเป็นรายแรกในไทย สิ่งที่ใหญ่ยิ่งและน่าภาคภูมิใจมากกว่านั้น คือการขยายธุรกิจสู่เวทีโลก !!
จังหวะเอื้อเมื่อยักษ์ขายผักระดับโลกยอดขายระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มองหาผู้เชี่ยวชาญตลาดข้าวโพดหวานในไทย หวังปั้นให้เป็นธุรกิจหลัก (Core business) ในเอเชีย จึงขอให้บริษัทนำเมล็ดข้าวโพดหวานพันธุ์ไทยไปขายทั่วโลก เปิดประตูการค้าสู่นานาชาติอย่างเป็นทางการ นั่นยังเป็นบทเรียนล้ำค่าหาไหนไม่ได้ เพราะทำให้รู้ว่าตลาดอยู่ตรงไหน พันธุ์อะไรเหมาะสำหรับพื้นที่ใด การปรับตัวของเมล็ดพันธุ์ทั่วโลก และรู้กลเม็ดว่า จะเปิดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในเอเชียอย่างไร
แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะยั่งยืนด้วยสินค้า 1 ตัวคงยาก ต้องหาสินค้าอื่นเสริมแกร่งให้สตาร์ทอัพอย่างแท้จริง ดร.ทวีศักดิ์ จึงไม่หยุดที่จะคิดค้นพันธุ์ข้าวโพดหวานใหม่ๆ ชูข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมควงซินเจนทา ซีดส์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกไปโด่งดังในเวทีอาเซียนบุกเวียดนาม ครองตลาดเกือบ 10 ประเทศ
หากแต่..ความภูมิใจสูงสุด คือการปั้นข้าวโพดหวานหรือซูเปอร์สวีทสีแดงพันธุ์แรกของโลก พร้อมตั้งสมญานาม “Siam Ruby Queen” จากความพยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคชื่นชอบ ลองผิดลองถูกเพาะพันธุ์ข้าวโพดหวานข้าวเหนียวแดง ดึงอาจารย์จากฮาวายมาชิม ก่อนจะได้รับคำสบประมาท
“อร่อยขนาดนี้หมูเท่านั้นที่กิน” นี่กลับเป็นการจุดประกายให้ดร.ทวีศักดิ์ รู้ว่าโอกาสในการพัฒนาให้ “อร่อย” มีมหาศาล 3-4 ปีผ่านไปอาจารย์กลับมาชิมอีกครั้ง และให้คะแนนใหม่
“ยินดีด้วยคุณทำได้จริง” จบประโยคนี้เสียงปรบมือดังลั่น
ดร.ทวีศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า “เอสเอ็มอีควรมีฝันที่ยิ่งใหญ่ ทำได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่สำคัญคือต้องมีความพยายาม”
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น