วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

คนไทยผู้ขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานจากของเสีย

อาจจะยังฝันไม่ไกล แต่ “ลิขิต นิ่มตระกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปภพ จำกัด ก็เป็นตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่รับมือกับอุปสรรคหลากประการอย่างไม่ถอดใจ จนธุรกิจประสบความสำเร็จ
ลิขิต เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาคนไทย 100% รับจ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ไม่ยอมซื้อองค์ความรู้จากต่างประเทศ อยากรู้เรื่องไหนก็ลงมือ “ปฏิบัติ” เองหมดทั้งวิจัยและพัฒนา ความที่คลุกคลีในแวดวงอุตสาหกรรมจึงเห็นขุมทรัพย์ จากการแปร “ของเสีย” จากโรงงานมาผลิตพลังงานก๊าซชีวภาพทดแทนพลังงานน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม จนสามารถลดต้นทุนให้ลูกค้า เพิ่มรายได้ใหม่ให้บริษัทในปัจจุบัน
2 ปี ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจบำบัดน้ำเสียที่มากด้วยปรปักษ์ทั้งเล็กใหญ่ แข่งขันสูง ห้ำหั่นด้วยราคา รายเล็กอย่างเขาคงเสร็จแน่ เขาวิเคราะห์เพื่อหาทางออกจากน่านน้ำทะเลแดงเดือด (Red Ocean) จนค้นพบคำตอบ คือ ความต่าง หาอะไรที่ไม่เหมือนเดิมมาขาย แต่ไม่ไกลจากธุรกิจเดิมที่ชำนาญ
ความคิดแรกคือการคิดหาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียดีๆ มาป้อนลูกค้า แต่จุดอ่อนอยู่ที่ ค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว
"ง่ายๆต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเองก่อน ไม่ต้องนำเงินส่วนกลางมาใช้ สุดท้ายหากธุรกิจดีจริงธุรกิจต้องทำกำไรและคืนทุน"
เขาใช้เวลาค้นหาปีกว่า จนเจอเทคโนโลยีที่ใช่จากยุโรป พยายามศึกษาหาความรู้อาศัยว่าเรียนวิชาเหล่านี้มาคงไม่ยาก “เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น” เลยต้องหาผู้เชี่ยวชาญระดับดอกเตอร์มาช่วยกันทำงาน จนสร้างผลงานออกขายในตลาด
ผ่านไป 2 ปี กว่าจะได้ลูกค้ารายแรกในธุรกิจผลิตขนมปัง ที่กำลังมองเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย บวกกับความเฮงที่จังหวะนั้นวิกฤติต้มยำกุ้งมาเยือน ธุรกิจย่ำแย่เป็นแถบ แต่เซ็กเตอร์อาหารส่งออกกลับร่ำรวย กำไรมหาศาลจากค่าเงิน ลูกค้ารายแรกจึงทำให้บริษัทเติบโตตามไปด้วย
แต่โจทย์ใหม่ก็ผุดขึ้น เมื่อเขาต้องการขยายกิจการแบบ “ก้าวกระโดด” ขายโปรเจคบำบัดน้ำเสียให้บรรดาโรงงานขนาดใหญ่ หลังมีผลงานอ้างอิง ทว่า...โรงงานที่จะ “ซื้อ” ระบบดังกล่าวจะต้องขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นไม่รู้จักระบบบำบัดน้ำเสียว่าคืออะไร เลยขายของไม่ได้
“เอสเอ็มอีมาแต่ตัว มีแต่ความมุ่งมั่น และความรู้ด้านการผลิต แต่ไม่รู้วิธีการขาย การเงิน เงินไม่มี” นั่นเป็นชนวนเหตุให้เขาออกแรงหายุทธวิธีล้างเงื่อนไขที่เผชิญ เริ่มเขียนแผนธุรกิจและมองหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงสุด จนมาลงเอยที่ “อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง” ของเสียส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไกล แถมใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิต
ขณะที่แง่คิดธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทิ้งไว้ หลังจากยืนได้ด้วยความรู้ ผู้คนหยิบยื่นความช่วยเหลือ ความเฮง ก็ต้องหาทางเติบโตอย่างยั่งยืน บรรจุในวิสัยทัศน์บริษัทให้บุคลากรรับรู้และพุ่งเป้าไปทิศทางเดียวกัน
3-4 แนวทางที่องค์กรต้องปฏิบัติคือ 1. วิจัยและพัฒนาสินค้า เพราะเมื่อไหร่ที่คนภายนอกมองธุรกิจที่ทำอยู่ “ดี” ก็จะมีคู่แข่ง “แห่แหน” ตามมาทั้งไทย-เทศ จะหนีได้ก็ต้องพัฒนาสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน 2.การพัฒนาสินค้าใหม่ ยังเป็นการ “เปิดตลาดใหม่” 3.พัฒนาบุคลากร สำคัญมาก องค์กรต้องรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่ร่วมหัวจมท้ายไว้ให้ได้ ทักษะการทำงานที่บ่มเพาะมา 5-10 ปี ถูกซื้อตัวได้ง่ายเพียงแค่คู่แข่งยื่นผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2 เท่า หลายคนยอมไป
“ฉะนั้นเราจะเป็นองค์กรแห่งความสุข มีประสิทธิภาพสูง อะไรก็ตามที่จะทำให้พนักงานมีความสุข ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องเข้ามาจัดการให้อยู่หมัด ทั้งรายได้ สวัสดิการ โดยเฉพาะความรู้สึกผูกพัน เป็นสาระสำคัญกว่าสิ่งอื่น ลูกน้องหนีไม่หนีอยู่ที่หัวหน้า ถ้าไม่ค่อยดูแลลูกน้องก็หนีหมด ต่อให้เงินเดือนมากเท่าไหร่ก็ไม่อยู่ เพราะเหม็นหน้าหัวหน้า” พร้อมย้ำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตลาดต่อเนื่อง และยกระดับจากผู้จำหน่ายสินค้าผันตัวสู่การเป็นหุ้นส่วน “ร่วมลงทุน” กับโรงงานเพื่อต่อยอดความยั่งยืน

(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น