วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

คนไทยผู้ขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานจากของเสีย

อาจจะยังฝันไม่ไกล แต่ “ลิขิต นิ่มตระกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปภพ จำกัด ก็เป็นตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่รับมือกับอุปสรรคหลากประการอย่างไม่ถอดใจ จนธุรกิจประสบความสำเร็จ
ลิขิต เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาคนไทย 100% รับจ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ไม่ยอมซื้อองค์ความรู้จากต่างประเทศ อยากรู้เรื่องไหนก็ลงมือ “ปฏิบัติ” เองหมดทั้งวิจัยและพัฒนา ความที่คลุกคลีในแวดวงอุตสาหกรรมจึงเห็นขุมทรัพย์ จากการแปร “ของเสีย” จากโรงงานมาผลิตพลังงานก๊าซชีวภาพทดแทนพลังงานน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม จนสามารถลดต้นทุนให้ลูกค้า เพิ่มรายได้ใหม่ให้บริษัทในปัจจุบัน
2 ปี ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจบำบัดน้ำเสียที่มากด้วยปรปักษ์ทั้งเล็กใหญ่ แข่งขันสูง ห้ำหั่นด้วยราคา รายเล็กอย่างเขาคงเสร็จแน่ เขาวิเคราะห์เพื่อหาทางออกจากน่านน้ำทะเลแดงเดือด (Red Ocean) จนค้นพบคำตอบ คือ ความต่าง หาอะไรที่ไม่เหมือนเดิมมาขาย แต่ไม่ไกลจากธุรกิจเดิมที่ชำนาญ
ความคิดแรกคือการคิดหาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียดีๆ มาป้อนลูกค้า แต่จุดอ่อนอยู่ที่ ค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว
"ง่ายๆต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเองก่อน ไม่ต้องนำเงินส่วนกลางมาใช้ สุดท้ายหากธุรกิจดีจริงธุรกิจต้องทำกำไรและคืนทุน"
เขาใช้เวลาค้นหาปีกว่า จนเจอเทคโนโลยีที่ใช่จากยุโรป พยายามศึกษาหาความรู้อาศัยว่าเรียนวิชาเหล่านี้มาคงไม่ยาก “เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น” เลยต้องหาผู้เชี่ยวชาญระดับดอกเตอร์มาช่วยกันทำงาน จนสร้างผลงานออกขายในตลาด
ผ่านไป 2 ปี กว่าจะได้ลูกค้ารายแรกในธุรกิจผลิตขนมปัง ที่กำลังมองเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย บวกกับความเฮงที่จังหวะนั้นวิกฤติต้มยำกุ้งมาเยือน ธุรกิจย่ำแย่เป็นแถบ แต่เซ็กเตอร์อาหารส่งออกกลับร่ำรวย กำไรมหาศาลจากค่าเงิน ลูกค้ารายแรกจึงทำให้บริษัทเติบโตตามไปด้วย
แต่โจทย์ใหม่ก็ผุดขึ้น เมื่อเขาต้องการขยายกิจการแบบ “ก้าวกระโดด” ขายโปรเจคบำบัดน้ำเสียให้บรรดาโรงงานขนาดใหญ่ หลังมีผลงานอ้างอิง ทว่า...โรงงานที่จะ “ซื้อ” ระบบดังกล่าวจะต้องขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นไม่รู้จักระบบบำบัดน้ำเสียว่าคืออะไร เลยขายของไม่ได้
“เอสเอ็มอีมาแต่ตัว มีแต่ความมุ่งมั่น และความรู้ด้านการผลิต แต่ไม่รู้วิธีการขาย การเงิน เงินไม่มี” นั่นเป็นชนวนเหตุให้เขาออกแรงหายุทธวิธีล้างเงื่อนไขที่เผชิญ เริ่มเขียนแผนธุรกิจและมองหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงสุด จนมาลงเอยที่ “อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง” ของเสียส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไกล แถมใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิต
ขณะที่แง่คิดธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทิ้งไว้ หลังจากยืนได้ด้วยความรู้ ผู้คนหยิบยื่นความช่วยเหลือ ความเฮง ก็ต้องหาทางเติบโตอย่างยั่งยืน บรรจุในวิสัยทัศน์บริษัทให้บุคลากรรับรู้และพุ่งเป้าไปทิศทางเดียวกัน
3-4 แนวทางที่องค์กรต้องปฏิบัติคือ 1. วิจัยและพัฒนาสินค้า เพราะเมื่อไหร่ที่คนภายนอกมองธุรกิจที่ทำอยู่ “ดี” ก็จะมีคู่แข่ง “แห่แหน” ตามมาทั้งไทย-เทศ จะหนีได้ก็ต้องพัฒนาสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน 2.การพัฒนาสินค้าใหม่ ยังเป็นการ “เปิดตลาดใหม่” 3.พัฒนาบุคลากร สำคัญมาก องค์กรต้องรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่ร่วมหัวจมท้ายไว้ให้ได้ ทักษะการทำงานที่บ่มเพาะมา 5-10 ปี ถูกซื้อตัวได้ง่ายเพียงแค่คู่แข่งยื่นผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2 เท่า หลายคนยอมไป
“ฉะนั้นเราจะเป็นองค์กรแห่งความสุข มีประสิทธิภาพสูง อะไรก็ตามที่จะทำให้พนักงานมีความสุข ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องเข้ามาจัดการให้อยู่หมัด ทั้งรายได้ สวัสดิการ โดยเฉพาะความรู้สึกผูกพัน เป็นสาระสำคัญกว่าสิ่งอื่น ลูกน้องหนีไม่หนีอยู่ที่หัวหน้า ถ้าไม่ค่อยดูแลลูกน้องก็หนีหมด ต่อให้เงินเดือนมากเท่าไหร่ก็ไม่อยู่ เพราะเหม็นหน้าหัวหน้า” พร้อมย้ำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตลาดต่อเนื่อง และยกระดับจากผู้จำหน่ายสินค้าผันตัวสู่การเป็นหุ้นส่วน “ร่วมลงทุน” กับโรงงานเพื่อต่อยอดความยั่งยืน

(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html)

จัมโบ้ (JUMBO) นวัตกรรมรถลากจูงระบบไฟฟ้าของไทย

จัมโบ้”เมดอินไทยแลนด์
ทะลวงดินแดนนวัตกรรมยานยนต์
การเริ่มสตาร์ทว่ายากแล้ว การ "จุดให้ติด" เป็นเรื่องยากกว่า เมื่อต้องฟาดฟันกับยักษ์ระดับโลก แม้จะเหนื่อย แต่ "ประเสริฐ เจนศิริวานิช" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจนบรรเจิด จำกัด พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพของเอสเอ็มอีไทย ที่ขึ้นชั้นบิ๊กเนมได้ด้วยสองมือ
จุดสตาร์ทอัพของเขาอาจได้เปรียบกว่าอีกหลายราย นั่นเพราะมองตลาดทะลุตั้งแต่ต้น เริ่มจากการจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ ภาชนะพลาสติก นำเข้าสินค้านานาชนิดป้อนอุตสาหกรรม จนรู้ว่า ธุรกิจที่ทำเป็นส่วนหนึ่งในการจัดเก็บสินค้า การขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ เลยผนวกทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียว ป้อนลูกค้า “กลุ่มเดียวกัน” แบก One stop service
ประกาศตัวสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดเก็บ ยก ย้าย สินค้า นั่นเป็นคอนเซปต์แรกที่ดำเนินการ เพราะขณะนั้นไม่มีคนทำธุรกิจนี้ ก่อนตะลุย "ส่งออกรถเข็น" คุณภาพเยี่ยมสายพันธุ์ไทยไปยัง 3 ทวีป กว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยมี “เยอรมัน” ดินแดนแห่งยนตรกรรมของโลก เป็นตลาดหลัก
แบรนด์ “จัมโบ้” (JUMBO) คือยี่ห้อนวัตกรรมรถลากจูงระบบไฟฟ้าของไทยราคา 200,000-300,000 บาท ที่เขาพูดได้เต็มปากว่า Made in Thailand และส่งออกไปในหลายประเทศ แม้จำนวนไม่มาก แต่สตาร์ทอัพในอดีตเช่นเขาก็ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้บิ๊กเนม
“รถลากจูงระบบไฟฟ้ายี่ห้อจัมโบ้ ส่งออกหลายประเทศ สินค้าตัวนี้ผมภูมิใจสุดๆ เราไปซื้อตัวอย่างรถจากอิตาลี ตัวเล็กๆ แล้ววิศวกรรมที่บริษัทก็คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขยายสัดส่วน จากรถที่ลากวัตถุได้ 300 กก. ก็เพิ่มเป็น 1,200 กก.และ 2,500 กก. และยังได้รับรางวัล มาตรฐานต่างๆ” เขาเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
นอกจากนี้ 7-8 ปีก่อน ค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกอย่างโตโยต้า ก็สั่งซื้อไปรวมกว่า 300 คัน เพื่อใช้ในโรงงาน หากใครไปเยี่ยมชมจะเห็นยี่ห้อ “จัมโบ้” ละลานตา ค่ายนิสสันเองก็ใช้ระบบเช่าสินค้ามากกว่า 150 คัน
“เป็นเรื่องที่ทีมงานภาคภูมิใจ ผมยกความดีความชอบให้กับทีมวิศวกรคนไทย ถึงแม้เราตั้งนโยบายแล้ว แต่เริ่มลงมือช้าไปหน่อย แต่ท้ายที่สุดเราก็ผลิตสินค้าเนี้ยบๆ ได้”
ประเสริฐ ถอดสมการตลาดอย่างเฉียบคมมาก ยุคก่อนฟองสบู่แตก ปี 2539 เขาตกปากรับคำผู้ผลิตอีควิปเมนต์แถวหน้าของโลก เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย ท่ามกลางการแข่งขันเดือด มีทั้งเจ้าตลาด คู่แข่งนานัปการ กำไรบาง ทำตลาดหิน..แต่ก็ตอบรับ !!
การเป็นพันธมิตรธุรกิจครั้งนั้น เขามองว่ามันคือ “กลยุทธ์การตลาด”
“การที่บริษัทเอสเอ็มอีเล็กอย่างเรา ขายสินค้าแบรนด์อันดับ 1 ของโลก จนสร้างยอดขายสูงสุด 2-3 ปี ทำให้ลูกน้องเรามีโอกาสเรียนรู้การทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลก ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กร และความเชื่อถือจากลูกค้า”
(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html)

หุ่นยนต์ดินสอ

"เฉลิมพล ปุณโณทก" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีทีเอเชีย จำกัด เจ้าของไอเดียปั้นหุ่นยนต์ไทยผงาดเวทีโลก เล่าว่า "คีย์เวิร์ด" ของการทำธุรกิจสำหรับเขาเริ่มในวัย 24 จากคำว่า “อุดมการณ์” “สปริงบอร์ด” และ “ต่อกรยักษ์ใหญ่”
อุดมการณ์ของเขา คืออยากทำอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เทียบชั้นยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่าง "โซนี่"
เมื่อเป้าหมายธุรกิจกระจ่างชัด จึงเริ่มหา "สปริงบอร์ด" ด้วยการท่องยุทธจักรอเมริกา ทำงานกับพี่เบิ้มการเงินของโลกอย่างจีอี แคปปิตอล ที่ชิคาโก “ล้วงตับ” ฝรั่งมังค่า เรียนรู้และอาสาทำงานปรับปรุงระบบคอลเซ็นเตอร์ เรียกว่า อาศัยบารมีองค์กรยักษ์ส่งเทียบเชิญเทรนเนอร์หัวทองมานำเสนอระบบ ดูดองค์ความรู้เต็มพิกัด ก่อนกลับมาขบคิดสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อชาติ
ลงเอยที่การขายซอฟต์แวร์ป้อนไอบีเอ็ม
"ตอนนั้น จังหวะชีวิตดีเมื่อไอบีเอ็มประกาศเลิกผลิตซอฟต์แวร์ทั่วโลก หันมาให้บริการเป็นหลัก สิ่งที่ค้าขายยกเลิก เลยนำซอฟต์แวร์มันสมองคนไทยเข้าไปแทนที่"
จุดเด่นซอฟต์แวร์ของบริษัท ประกาศจุดยืนขอ "อยู่ตรงกลาง" เป็นทางเลือก ต่างจากซอฟต์แวร์ “สายพันธุ์” อินเตอร์อื่นๆ ทั้งอวาย่า (Avaya) ออราเคิล ไมโครซอฟต์
“แบรนด์สู้ไม่ได้ แต่โนวฮาวสู้ได้ เลยกวาดมาส่วนแบ่งตลาด 70%ในเมืองไทย” เขาระบุ
วันนี้เขายังอาสาเป็นคนต้นแบบ นำพาธุรกิจสตาร์ทอัพขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยผนวกนวัตกรรมสร้างหุ่นยนต์ระดับพระกาฬของเด็กไทย ที่ไปคว้าแชมป์จากเวทีโลกมานักต่อนัก แต่สุดท้ายผลงานมักถูกวางไว้บน "หิ้ง" ไร้การต่อยอดเชิงพาณิชย์
“แชมป์หุ่นยนต์ของไทยเยอะมาก สุดท้ายคนเหล่านี้กลับไปเป็นอาจารย์ และวนเวียนอยู่แบบนี้ ล่าถ้วยรางวัล เลยชวนคนเก่ง ดึงแชมป์มาทำงานสร้างหุ่นยนต์ แล้วเราเป็นผู้วางกลยุทธ์ และบริหาร กลายเป็นการผลิตหุ่นยนต์ดินสอตัวละ 1 ล้านบาท ให้บริการเชิงพาณิชย์ในร้านอาหารชื่อดังอย่าง เอ็มเคสุกี้ สร้างรายได้หลักร้อยล้านบาท"
ปี 2558 เขายังมุ่งมั่นจะส่งผลงานสมองกลไปบุกตลาดญี่ปุ่น เจาะกลุ่มเป้าหมาย "ผู้สูงอายุ" ในญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีมากถึง 30 ล้านคน โดยตั้งธุรกิจคอลเซ็นเตอร์นำร่อง ก่อนเสริมทัพด้วยบริการหุ่นยนต์
"สิ่งที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของผมคือส่งออกหุ่นยนต์ไทยไปญี่ปุ่นให้ได้ ถ้าทำได้วันนั้นจะสะใจมาก เป็นความโรคจิตส่วนตัว (หัวเราะ) การเข้าไปบุกตลาดประเทศอื่นอาจง่ายกว่า แต่หากเข้าญี่ปุ่นได้ ก็จะไปประเทศอื่นได้ไม่ยาก" เขาฉายภาพ
ส่วนใครที่คิดว่าธุรกิจสตาร์ทอัพทำการตลาดไม่เก่ง ก็ต้องปิดจุดอ่อนให้ได้ โดยต้องหาตลาดเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ให้เจอ อย่าหยุดคิดค้นนวัตกรรม และพยายามโดยสารไปกับองค์กรขนาดใหญ่ สร้างความแกร่ง เสริมทัพธุรกิจ ก่อนยกชั้นให้เป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของกิจการร่วมกัน
(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html)

ข้าวโพดหวานแดงพันธุ์แรกของโลก

      อีกกรณีศึกษา คือการผันตัวจากนักวิชาการ สู่นักธุรกิจเต็มตัว "ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หล่ำ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวีทซีดส์ จำกัด ผู้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานสัญชาติไทย แบ่งเค้กยักษ์ใหญ่โลก
แม้จะนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมายยังคงเป็นงานวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ฐานที่คร่ำหวอดในห้องปฏิบัติการมานานถึง 32 ปี โดยปรับปรุงพันธุ์ “ข้าวโพดหวาน” ที่คนไทยบริโภคกันแพร่หลาย ร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ผลงานช่วงแรกที่ออกมาก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก แต่เกษตรกรกลับเอ่ยปากบาดใจว่า..
“อาจารย์เอาอะไรมาให้ปลูก หมายังเมินเลย ผมจำประโยคนี้ได้ เขาพูดแบบนั้นจริงๆ เพราะคนไม่อยากซื้อ ฝักมันเล็ก แต่เรามั่นใจว่าพันธุ์นี้อร่อย และตอบกลับไปว่า..สักวันหนึ่งหมามันจะต้องกิน”
เพราะวิจัยเมล็ดพันธุ์พืช ธุรกิจจะไปรอดได้ ต้อง “ขายออก” จึงเริ่มหาช่องทางการตลาด ด้วยการเจรจาการค้ากับโรงงานข้าวโพดกระป๋องในยุคนั้นทั้ง มาลี สามพราน และโรงงานริเวอร์แควร์ โดยรายหลังสนใจทำผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องส่งนอก เมื่อโรงงานปลูกเองไม่ได้ จึงใช้วิธีทำคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่งหรือการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตกับเกษตรกรล่วงหน้า
2 ปีผ่านไปเกษตรกรเข้าร่วมน้อย จนเข้าสู่ปีที่ 3 เกษตรกรเริ่มเข้าคิวรอทำคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่ง มากถึง 3,000 ไร่
ธุรกิจหมาเมิน ก็เริ่ม OK !
ผลของการตัดสินใจเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพ ทำให้เขารู้ว่าการทำธุรกิจสิ่งสำคัญคือ “ต้องมีความรู้” และ “รักษาคำพูด-คำมั่นสัญญา” ยิ่งการทำสัญญากับเกษตรกรทุกอย่างต้องเจรจาบนโต๊ะ และชัดเจนว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้
ขณะที่สินค้าเมล็ดพันธุ์พืชจะทำการตลาด โหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ตายก็ไม่ได้ผล สิ่งที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้า ต้องมาจาก "ความน่าเชื่อถือ" และจากการบุกเบิกตลาด
นอกจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานบุกเบิกตลาดเป็นรายแรกในไทย สิ่งที่ใหญ่ยิ่งและน่าภาคภูมิใจมากกว่านั้น คือการขยายธุรกิจสู่เวทีโลก !!
จังหวะเอื้อเมื่อยักษ์ขายผักระดับโลกยอดขายระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มองหาผู้เชี่ยวชาญตลาดข้าวโพดหวานในไทย หวังปั้นให้เป็นธุรกิจหลัก (Core business) ในเอเชีย จึงขอให้บริษัทนำเมล็ดข้าวโพดหวานพันธุ์ไทยไปขายทั่วโลก เปิดประตูการค้าสู่นานาชาติอย่างเป็นทางการ นั่นยังเป็นบทเรียนล้ำค่าหาไหนไม่ได้ เพราะทำให้รู้ว่าตลาดอยู่ตรงไหน พันธุ์อะไรเหมาะสำหรับพื้นที่ใด การปรับตัวของเมล็ดพันธุ์ทั่วโลก และรู้กลเม็ดว่า จะเปิดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในเอเชียอย่างไร
แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะยั่งยืนด้วยสินค้า 1 ตัวคงยาก ต้องหาสินค้าอื่นเสริมแกร่งให้สตาร์ทอัพอย่างแท้จริง ดร.ทวีศักดิ์ จึงไม่หยุดที่จะคิดค้นพันธุ์ข้าวโพดหวานใหม่ๆ ชูข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมควงซินเจนทา ซีดส์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกไปโด่งดังในเวทีอาเซียนบุกเวียดนาม ครองตลาดเกือบ 10 ประเทศ
หากแต่..ความภูมิใจสูงสุด คือการปั้นข้าวโพดหวานหรือซูเปอร์สวีทสีแดงพันธุ์แรกของโลก พร้อมตั้งสมญานาม “Siam Ruby Queen” จากความพยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคชื่นชอบ ลองผิดลองถูกเพาะพันธุ์ข้าวโพดหวานข้าวเหนียวแดง ดึงอาจารย์จากฮาวายมาชิม ก่อนจะได้รับคำสบประมาท
“อร่อยขนาดนี้หมูเท่านั้นที่กิน” นี่กลับเป็นการจุดประกายให้ดร.ทวีศักดิ์ รู้ว่าโอกาสในการพัฒนาให้ “อร่อย” มีมหาศาล 3-4 ปีผ่านไปอาจารย์กลับมาชิมอีกครั้ง และให้คะแนนใหม่
“ยินดีด้วยคุณทำได้จริง” จบประโยคนี้เสียงปรบมือดังลั่น
ดร.ทวีศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า “เอสเอ็มอีควรมีฝันที่ยิ่งใหญ่ ทำได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่สำคัญคือต้องมีความพยายาม”


http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20140414/574962/Startup-สายพันธุ์ไทย-ปฏิบัติการล้มยักษ์.html