|
ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี |
|
|
ตลาดเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์คอนดิชั่นในเมืองไทย มีผู้ผลิตทั้งในและนอก รวมมากกว่า 30 ราย แบรนด์ “ซัยโจเดนกิ” จากเจ้าของไทย 100% สามารถก้าวสู่หัวแถว ด้วยยอดขายติด 1 ใน 5 อันดับแรก ซึ่งปัจจัยสำคัญผลักดันธุรกิจมาถึงจุดนี้ได้ เกิดจากวิสัยทัศน์มุ่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีกว่าที่เป็นมา หนึ่งในขุนพลสำคัญขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ ทายาทธุรกิจคนกลางจาก 3 พี่น้อง อย่าง “ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี” ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจเดนกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เข้ามาสานต่อกิจการครอบครัว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในหน้าที่หลักทำตลาดต่างประเทศ ควบคู่วิจัยพัฒนาสินค้าให้เกิดนวัตกรรมแปลกใหม่ ช่วยให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด พร้อมวางเป้าจะขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งในดวงใจภายใน 5 ปีข้างหน้า
|
@@@ จากรับจ้างผลิตสู่เจ้าของธุรกิจแอร์ไทยชื่อญี่ปุ่น @@@ ธันยวัฒน์ เล่าว่า คุณพ่อ (สมศักดิ์ จิตติพลังศรี) บุกเบิกธุรกิจทำเครื่องปรับอากาศตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว เริ่มจากเป็นโรงงานรับจ้างผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนแอร์ฯ จนคุณพ่อคิดถึงการสร้างแบรนด์ เพื่อปูทางธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน จึงร่วมมือกับบริษัทของประเทศญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ซึ่งทำธุรกิจเป็นตัวแทนขายสินค้าต่างๆ โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ชื่อว่า “ซัยโจเดนกิ” เพื่อทำธุรกิจผลิตแอร์ฯ มีรูปแบบธุรกิจจะซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่น แล้วนำมาประกอบชิ้นส่วน รวมถึง การผลิตทั้งหมดในเมืองไทย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงใช้ชื่อแบรนด์เป็นภาษาญี่ปุ่น หลังจากทำธุรกิจร่วมกันมาประมาณ 10 ปี ทางหุ้นส่วนประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจถอนตัว ไม่ทำธุรกิจนี้ต่อไปแล้ว เนื่องจากขาดทายาทธุรกิจจะสานต่อ ดังนั้น แบรนด์ “ซัยโจเดนกิ” จึงถูกโอนมาเป็นธุรกิจของคนไทย 100% นับตั้งแต่นั่นเป็นต้นมา
|
|
ห้องวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ |
|
|
@@@ ทายาทต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรม @@@@ ทายาทหนุ่มเรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วางเป้าหมายอย่างแน่วแน่ว่า จะเข้ามาช่วงสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะผูกพันคลุกคลีกับอาชีพนี้มาตั้งแต่จำความได้ ซึ่งสถานการณ์เมื่อตอนเข้ามารับไม้ต่อเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แบรนด์ “ซัยโจเดนกิ” ถือว่าเป็นที่รู้จักของคนไทยมากพอสมควรอยู่แล้ว ทว่า ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าตลาดเดิม และแบรนด์เกิดใหม่ ทั้งของไทย จีน และเกาหลี ซึ่งการแข่งขันมุ่งตัดราคา ดังนั้น เลือกจะหันมามุ่งสร้างความแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ด้วยการปั้นแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในคุณภาพ และนวัตกรรมที่พิเศษยิ่งกว่า “คุณพ่อมีวิสัยทัศน์ในการสร้างแบรนด์ กับสร้างนวัตกรรมมาตลอด ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว จนถึงช่วงที่ผมเข้ามาสานต่อ ยอดขายของเราเริ่มทรงตัว ขณะที่มีคู่แข่งรายใหม่จำนวนมาก และตัดราคากันอย่างรุนแรง ซึ่งเรารู้ดีว่า ไม่สามารถจะขายราคาถูกที่สุดได้ จำเป็นต้องหาทางสร้างความพิเศษ เพื่อจะให้ลูกค้าหันเลือกมาซื้อสินค้าของเรา ด้วยการสร้างให้แอร์ของเรามีนวัตกรรมที่เหนือกว่าสินค้าในท้องตลาด” ธันยวัฒน์ เผยแนวคิด
|
|
แอร์ที่เชื่อมระบบ IoT” (Internet of Things) |
|
|
วิธีการสร้างนวัตกรรมของผู้ผลิตแอร์รายนี้ มุ่งไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ด้านสุขภาพ 2.ความประหยัด และ3.ทันสมัยเข้ากับเทรนด์โลกยุคใหม่ โดยก่อนจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ใดๆ ก็ตาม จะสำรวจก่อนว่า เวลานั้น ผู้บริโภคต้องการสิ่งใดบ้าง และมีสินค้าใดที่ดีสุดในตลาด เพื่อจะพัฒนาให้ดียิ่งกว่าอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว เพื่อดักรอโอกาสของตลาดในอนาคต “ตอนนั้น คู่แข่งรอบตัว มีแต่แบรนด์ระดับโลก ขนาดธุรกิจใหญ่กว่าเราทุกราย วิธีที่จะคนตัวเล็กจะสู้ได้ คือ วิ่งให้เร็วกว่า ดักรอสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ อย่างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราเริ่มพัฒนาแอร์เพื่อจับเทรนด์ “สุขภาพ” โดยพัฒนาแผ่นฟอกอากาศพิเศษ ซึ่งทุกวันนี้ เรื่องสุขภาพกลายเป็นเทรนด์ฮิต หรือเมื่อหลายปีก่อน เรามั่นใจอยู่แล้วว่าเทรนด์ “IoT” (Internet of Things) จะมาแรง เราจึงรีบพัฒนานวัตกรรมเชื่อมอินเตอร์เน็ตกับแอร์ฯ เพื่อส่งสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดก่อนรายใหญ่ ควบคู่กับจดสิทธิบัตรไว้ก่อนด้วย เฉพาะแค่ปี 2559ที่ผ่านมา เราจดสิทธิบัตรกว่า 20 รายการ” ธันยวัฒน์ ระบุ
|
|
แอร์ไทยส่งไปขายญี่ปุ่น |
|
|
@@@@ แอร์ไทยรายแรกส่งขายในประเทศญี่ปุ่น @@@ หนึ่งในนวัตกรรมชิ้นเอกของ “ซัยโจเดนกิ” ได้แก่ การนำเชื่อมต่อเครื่องปรับอากาศกับการใช้งานอินเตอร์เน็ต ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยริเริ่มทำตั้งแต่ก่อนกระแส IoT จะบูมอย่างเช่นปัจจุบันเสียอีก ธันยวัฒน์ อธิบายเสริมว่า เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว การนำอินเตอร์เน็ตมาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเริ่มเป็นที่ถูกกล่าวถึง แต่หากคิดแค่เชื่อมอินเตอร์เน็ตเพื่อเปิดปิดแอร์ ย่อมธรรมดาเกินไป ใครๆ ก็ทำได้ ดังนั้น จึงคิดนวัตกรรมเชื่อมแอร์กับอินเตอร์เน็ต โดยนำปัญหาการใช้งานของลูกค้ามาเป็นตัวตั้ง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เวลาแอร์เสีย ลูกค้ามักไม่วางใจช่างแอร์ เกรงจะซ่อมผิดพลาด หรือคิดราคาแพงเกินจริง จึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบอุปกรณ์ภายในแอร์ได้เองกว่า 30 รายการ ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน รวมถึง ตรวจสอบค่าไฟฟ้าได้เป็นรายชั่วโมงและรายวัน อีกทั้ง มีหมวดประหยัดไฟ นอกจากนั้น ยังติดตั้ง GPS ควบคุมการเปิดปิด และกำหนดอุณหภูมิได้จากทุกสถานที่ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ รวมถึง มีสัญญาณเตือนเปิดปิดแอร์ ในระยะทาง 3 กิโลเมตรรอบรัศมีของตัวแอร์ “ความเจ็บปวดของลูกค้าที่เราทำการสำรวจพบว่า เวลาแอร์ที่บ้านเสีย ต้องเรียกช่างมาดู ซึ่งมาตรฐานช่างแต่ละคนต่างกันไป สร้างความกังวลว่า ช่างจะเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ถูกต้องในราคาที่เหมาะสมหรือเปล่า นี่เป็นปัญหาที่อยู่ในใจผู้บริโภคตลอดมา เราจึงพัฒนาแอร์ฯ ที่สามารถบอกอาการภายในได้ และควบคุมการใช้ไฟฟ้าได้ โดยผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน” ทายาทธุรกิจ เสริม ด้วยนวัตกรรมนี้ ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจ จนสั่งนำเข้า ทำให้ “ซัยโจเดนกิ” เป็นผู้ผลิตแอร์ไทยรายแรกที่สามารถส่งสินค้าไปขายที่ญี่ปุ่นได้ นอกจากนั้น การมีนวัตกรรมแปลกใหม่ ยังก่อประโยชน์ทางอ้อม ช่วยให้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อ เท่ากับได้ประชาสัมพันธ์ฟรีให้คนทั่วไปได้รู้จักแบรนด์มากยิ่งขึ้น
|
@@@ เผยนวัตกรรมสร้างได้จาก “คน” และ “ทีมงาน” @@@ เขาระบุด้วยว่า การสร้างนวัตรรมให้ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลเสมอไป แต่หัวใจแท้จริงที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรม มาจากการสร้าง “บุคลากร” และ “ทีมงาน” ที่มีคุณภาพ พร้อมให้โอกาสทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในการสร้างนวัตกรรมย่อมต้องเกิดความล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ สิ่งสำคัญ เมื่อผิดพลาดแล้ว ต้องควบคุม ให้อยู่ในวงจำกัด ขั้นแรกพยายามไม่ให้หลุดรอดจากห้องวิจัย ต่อมา ไม่ลงไปสู่ภาคการผลิต และที่สำคัญ ห้ามหลุดไปสู่ตลาดภายนอก ซึ่งจะสร้างความเสียหายมหาศาล นอกจากนั้น การบรรยากาศในการทำงาน ให้เหมาะสม และสร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” จะเป็นอีกปัจจัยที่จะเอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยทุกคนในองค์กรไม่ควรตำหนิกันและกัน หรือถูกดูคนผู้ที่พยายามจะคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ห้ามแบ่งแยกคนตามความสามารถ ขอให้เชื่อว่า ทุกคนต่างมีความสามารถในแบบของตัวเอง เช่นเดียวกับทีมวิจัยและพัฒนา ก็เป็นเพียงหนึ่งในฟันเฟื่ององค์กรที่จะไม่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือพนักงานฝ่ายอื่นๆ แม้แต่น้อย “สำหรับผมแล้ว เชื่อว่า นวัตกรรมที่ดี ต้องแตกต่างและดีกว่า ที่สำคัญ ต้องผลิตและขายได้ด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการสร้างทัศนคติให้ทีมงานอยากพัฒนาสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่ง อยากจะเป็นที่หนึ่งเสมอ ซึ่งการสร้างทัศนคติดังกล่าว เป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด แต่ถ้าทำได้จะมีประโยชน์ที่สุดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คนสร้างนวัตกรรม ต้องการทบทวนตัวเองสม่ำเสมอ ว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือเปล่า ไม่เช่นกัน อาจจะกลายเป็นคนฝันฟุ้ง เพ้อเจ้อ ไม่อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง” “ผมมองว่า นักพัฒนาต้องมาจากนรก ไม่ได้เป็นเทพมาจากสวรรค์ เพราะการสร้างนวัตกรรม คือ การสร้างสิ่งใหม่จากปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ลอยมาจากสวรรค์ บางทีเราคิดว่าคนคิดนวัตกรรม เป็นเทพเจ้า ต้องเกิดมาสมองอัจฉริยะ ไอคิวสูง แล้วประทานสิ่งอะไรออกมาเป็นนวัตกรรมอย่างที่เราเห็น แต่จริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นเลย นวัตกรรมเกิดจากคนธรรมดานี่แหล่ะ แล้วพัฒนาตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่พระเจ้า” เขาย้ำ
|
|
"“สำหรับผมแล้ว เชื่อว่า นวัตกรรมที่ดี ต้องแตกต่างและดีกว่า ที่สำคัญ ต้องผลิตและขายได้ด้วย" |
|
|
เขาระบุด้วยว่า สำหรับ“ซัยโจเดนกิ” ทีมงานที่จะสร้างนวัตกรรมต้องขยัน ทำงานหนัก มีวินัย อยู่ภายใต้กฎระเบียบ ของบริษัท รู้จักประหยัดใช้เงินทุนอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้น แม้สุดท้ายจะคิดนวัตกรรมขึ้นมาได้ หากราคาสูงเกินไป ก็จะไม่สามารถจะขายได้ นอกจากนั้น คนสร้างนวัตกรรมต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คิดเสมอว่า ความล้มเหลวไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ได้เรียนรู้นำมาแก้ไขและพัฒนาใหม่ รวมถึง อย่าไปยึดติดกับแค่เทรนด์ในปัจจุบัน ให้จำไว้เสมอว่า ทุกกระแสความนิยมไม่นานก็ต้องหมดไป จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อนำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ “สิ่งที่ผมพูด อาจจะขัดกับภาพในความคิดของคนทั่วไป ที่คิดว่าคนสร้างนวัตกรรมต้องเป็นคนเก่งระดับอัจฉริยะ แต่งตัวเท่ๆ แต่สำหรับผมแล้ว คนสร้างนวัตกรรมต้องเป็นคนที่มีขยัน ทำงานหนัก ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ไม่ใช่เก่งอยู่คนเดียว ดังนั้น คนทำนวัตกรรมของเรา จึงต้อง “ติดดิน” และอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง” เขาระบุ
|
@@@ วางเป้าอีก 5 ปี ขึ้นแท่นแอร์ไทยเบอร์หนึ่งในใจผู้บริโภค @@@ ธันยวัฒน์ เผยด้วยว่า ปัจจุบันตลาดธุรกิจเครื่องปรับอากาศในเมืองไทย มูลค่ารวมประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี โดยปีที่แล้ว (2559) ซัยโจเดนกิ มีผลประกอบการเติบโตกว่า 30% มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท มาจากยอดขายในประเทศ 70% และอีก 30% ส่งออกต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป และอาเซียน เป็นต้น นับเป็นแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุดติด 1 ใน 5 อันดับแรก โดยอีก 4 รายที่เหลือล้วนแต่เป็นอินเตอร์แบรนด์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ วางเป้าหมายว่า อีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า จะก้าวเป็นแบรนด์เครื่องปรับอากาศสัญชาติไทย หมายเลข 1 ในใจผู้บริโภค โดยใช้จุดแข็งมีนวัตกรรมเหนือชั้น รวมถึง สินค้ามีคุณภาพความแข็งแรงทนทานกว่าแบรนด์ชั้นนำ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี หรืออเมริกา เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในแบรนด์ไทย “ทุกครั้งที่ไปทำตลาดในต่างประเทศ ผมจะบอกเสมอว่า นี่เป็นแบรนด์ไทย ซึ่งในสายตาของต่างชาติ อย่างญี่ปุ่นจะมองจากข้อเท็จจริง หากนวัตกรรมดีจริง เขาพร้อมจะยอมรับ ส่วนตลาดในอาเซียนมองสินค้าไทยเป็นระดับพรีเมียมอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบัน จากการแข่งขันดุเดือด ผมกลับมองว่าเป็นโอกาสดี เพราะแบรนด์ดังของญี่ปุ่นหันมาลดต้นทุน เพื่อจะขายลดราคาแข่งกับแอร์จากประเทศจีน ทำให้คุณภาพด้อยลง หากเราสามารถทำคุณภาพให้เหนือกว่าได้ ผู้บริโภคจะยอมรับและเชื่อมั่นในแบรนด์ไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ทายาทธุรกิจ กล่าว ในตอนท้าย เขาระบุด้วยว่า การทำนวัตกรรม ถ้าคิดว่าจะทำเพื่อรวยเป็นอันดับแรก จะไม่มีทางสำเร็จ เพราะระหว่างทางในการวิจัยและพัฒนาย่อมเกิดปัญหาและความผิดพลาดแน่นอน ซึ่งจะก่อให้เกิดความท้อ จนไม่สามารถสร้างนวัตกรรมสำเร็จ ดังนั้น หากเปลี่ยนความคิด มามุ่งทำจะนวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าเดิม ให้เกิดประโยชน์แก่คนทั้งโลก การทำงานจะเกิดความสนุกท้าทาย จนเมื่อสร้างนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์และขายได้จริง ผลสำเร็จด้านรายได้จะตามมาเอง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น